ครม.อนุมัติรถไฟสายสีแดง (Missing Link) ช่วง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง 25.9 กม. วงเงิน 4.4 หมื่นล้าน คาดเร่งประมูลได้ใน ก.ย.นี้ เริ่มสร้างต้นปี 60 เปิดเดินรถปี 64 แก้ปัญหา 13 จุดตัดทางรถไฟกลางเมือง
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. มีมติอนุมัติการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Missing Link) สีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท
โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเป็นมติ ครม.ให้โครงการที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท เมื่อจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) แล้ว ให้เสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเสนอคณะกรรมการคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้ จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อตรวจสอบและแก้ครหาเรื่องล็อกสเปกและให้เจรจากับผู้บุกรุกเขตทางรถไฟให้ ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหารับค่าชดเชยแล้วไม่ยอมย้ายออก จะมีการเวนคืนพื้นที่ 2 แปลงบริเวณพญาไท จำนวน 78.40 ตารางวา และโยกย้ายผู้บุกรุก 1,030 หลังคา ช่วงยมราช-หัวลำโพง กรอบชดเชย 191 ล้านบาท
ทั้งนี้ สายสีแดง (Missing Link) มี 9 สถานี แบ่งเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ (Elevated) 4 สถานี (พญาไท-มักกะสัน-รามคำแหงหัวหมาก) โครงสร้างระดับใต้ดิน 2 ชั้น มี 3 สถานี (สามเสน-ราชเทวี-ยมราช) และโครงสร้างทางวิ่งระดับดิน (At Grade) มี 2 สถานี (ยศเส-หัวลำโพง) ซึ่งโครงการจะแก้ปัญหาจราจรจุดตัดทางรถไฟได้ ตลอดแนวรวม 13 จุด ประกอบด้วย ประดิพัทธ์, เศรษฐศิริ, ระนอง, นครชัยศรี, ราชวิถี, ศรีอยุธยา, ยมราช, พระราม 6, พญาไท, ราชปรารถ, อโศก, รามคำแหง, ศรีนครินทร์
โดยในการก่อสร้างจะผสมผสาน โครงสร้างทางวิ่งแบบคลองแห้ง (Open Trench and Cut & Cover Tunnel) โดย เฉพาะช่วงสถานีสามเสน-ยมราช นั้นจะมีโครงสร้างของ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย (พญาไทบางซื่อ-ดอนเมือง) ร่วมในพื้นที่เดียวกันด้วยนั้น เบื้องต้นจะมีการเตรียมพื้นที่ไว้เผื่อแอร์พอร์ตลิงก์ไว้เลย ซึ่งจะลดวงเงินค่างานโยธาของแอร์พอร์ตลิงก์ลง1,300 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 31,139.35 ล้านบาท
โดยแบ่งการจัดจ้างออกเป็น 3 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 งานโยธา ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และ บางซื่อ-มักกะสัน ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร วงเงิน 15,608 ล้านบาท สัญญาที่ 2 งานโยธา ช่วงมักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร วงเงิน 6,998 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมจัดหาตู้รถไฟฟ้าวงเงิน 17,300 ล้านบาท โดยมีค่าที่ปรึกษาควบคุมงาน 2.7% ของวงเงินรวม (4.47 หมื่นล้านบาท) มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 29.91% ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 13% โดยคาดว่าจะเสนอร่าง TOR ภาย ในเดือน ส.ค.และเปิดประมูลในเดือน ก.ย. 2559 ทำสัญญาและเริ่มก่อสร้างต้นปี 2560 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในปี 2564
"มีความเห็นจากสำนักงบประมาณเกี่ยวกับวงเงินค่าจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าสำหรับสาย Missing Link ที่ 95 ล้านบาท/ตู้ ขณะที่ราคารถของสัญญา 3 สายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน และ บางซื่อ-รังสิต) อยู่ที่ 80 ล้านบาท/ตู้ นั้น ได้ชี้แจงไปแล้วว่า เป็นการประเมินของที่ปรึกษา ซึ่ง Missing Link สร้างทีหลัง จึงใช้อัตราสูงสุดของค่าตัวรถ" นายออมสินกล่าว
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา