การเป็นเจ้าของที่ดินสักแปลงในปัจจุบัน อาจเป็นเรื่องเล็กๆสำหรับคนบางกลุ่ม แต่สำหรับคนบางกลุ่มแล้วการจะครอบครองที่ดินสักแปลงอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของอย่างเต็มตัวนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย บ้างจำใจต้องซื้อที่แบบไร้โฉนดแลกกับราคาที่ต่ำกว่าที่ดินมีโฉนด บ้างต้องรอคอยกว่าค่อนชีวิตกว่าจะมีเงินพอซื้อที่ดินได้ ดังนั้นรูปแบบการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้พอๆกับราคาหรือวิธีการที่ได้มาซึ่งที่ดินเช่นกัน วันนี้ทีมงานบ้านคุ้มค่าจึงได้นำเอาประเภทของการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน มาฝากกันดังนี้
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
กรรมสิทธิ์ประเภทนี้คือ ได้มาโดยการขอออกโฉนดที่ดินทั้งตำบล , ได้มาโดยขอออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายการ และได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยทางนิติกรรม เช่น โดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้จำนอง ขายฝากที่ทำตามแบบของกฎหมาย (ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่) มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยผลของกฎหมาย
ยกตัวอย่างเช่น ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินจากที่งอกริมตลิ่ง ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกนั้นเป็นทรัพย์สินของเจ้าของที่ดิน แปลงนั้น โดยหลักของที่งอกริมตลิ่งจะต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติและติดต่อเป็นผืนเดียว กัน แต่เจ้าของที่ดินจะมีกรรมสิทธิ์ในที่งอกได้ต้องเป็นที่ที่มีหนังสือสำคัญ แสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าเจ้าของที่ดินแปลงใดเป็นที่มือเปล่า หากเกิดที่งอกออกมาเจ้าของที่แปลงนั้นก็จะมีแต่เพียงสิทธิครอบครองในที่งอก เท่านั้น ดังนั้นหากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมีโฉนด เจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวจะมีกรรมสิทธิ์ในที่งอก ผู้อื่นจะแย่งการครอบครองที่ดินส่วนนี้ จะต้องครอบครองปรปักษ์เกินกว่า 10 ปีจึงได้กรรมสิทธิ์ หากเป็นที่งอกออกมาจากที่ดินมือเปล่า (สค.1,นส.3) เจ้าของมีเพียงสิทธิครอบครอง หากผู้อื่นแย่งการครอบครองและเจ้าของไม่ฟ้องร้องเรียกคืนภายใน 1 ปี เจ้าของสิ้นสิทธิในที่งอกนั้น
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์
ตามกฎหมายกำหนดว่า "บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์" ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว) ที่บ้านที่สวนตามกฎหมายเบ็ดเสร็จ (บทที่ 42) ที่ดินมือเปล่า (สค.1,นส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้
การได้กรรมสิทธิ์โดยครอบครองปรปักษ์จะ ต้องให้ศาลมีคำสั่งว่า ได้มาโดยครอบครองปรปักษ์แล้วนำคำสั่งศาลไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ประเภทได้มาโดยการครอบครอง หากเจ้าของได้โดยการครอบครองบางส่วนก็ไปขอจดทะเบียนในประเภทได้มาโดยการครอบ ครองเฉพาะส่วน หรือได้รับแบ่งมาโดยการครอบครอง
การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยทางมรดก
การจะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดก ที่ดินมรดกนั้นต้องเป็นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน ถ้าที่ดินมรดกเป็นที่มือเปล่า เช่น ที่ นส.3, สค.1 ก็มีเพียงสิทธิครอบครอง และได้ทรัพย์มาโดยทางมรดกนี้จะต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเสียก่อน จึงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ ตามที่กฎหมายบัญญัติว่า "ถ้าผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่น นอกจากนิติกรรมสิทธิ์ ของผู้ได้มานั้นถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้" การได้มาทางมรดกก็เป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม
ที่มา : ดินสอพอง (Dailynews)