ท่ามกลางกระแสการถดถอยของกำลังซื้อที่อยู่อาศัย จึงเกิดปรากฏการณ์ธนาคารปฏิเสธการปล่อยกู้เพื่อซื้อบ้าน คอนโดฯ ในอัตราสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก จึงเกิดปรากฏการณ์นักลงทุนเก็งกำไรคอนโดฯ ไม่มาโอนกรรมสิทธิ์มากขึ้น
บริษัทอสังหาริมทรัพย์ด้านหนึ่งก็เจาะหาช่องตลาดที่ยังมีกำลังซื้อ เช่น การนำโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ๆไปเจาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน เพราะประเทศเหล่านั้นเศรษฐกิจยังดี กำลังซื้อยังแข็งแรง
อีกด้านหนึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็มีการคัดกรองลูกค้าเข้มงวดมากขึ้น เพราะมีประสบการณ์แล้วว่าหากลูกค้ามีกำลังซื้อไม่เพียงพอ เมื่อจองซื้อไปแล้วแต่สุดท้ายธนาคารไม่อนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า บริษัทก็ต้องรับเอาห้องชุดหรือบ้านหลังนั้นๆกลับมาขายใหม่
เริ่มต้นนับหนึ่งทางการตลาดอีกครั้ง
วิธีคัดกรองลูกค้าของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
1. บางบริษัทให้ลูกค้าทำ "พรีแอพพรูฟ (pre-approved)" กับสถาบันการเงินก่อน เมื่อผ่านหลักเกณฑ์การพิจารณาจึงทำสัญญา
2. แต่เดิมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดอัตราส่วนเงินดาวน์กับสินเชื่อ หรือ LTV (loan to value) สำหรับบ้านเดี่ยวไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 5% ห้องชุดไม่ต่ำกว่า 10% เพื่อป้องกันไม่ให้ปล่อยกู้ในสัดส่าวนที่สูงหรือดาวน์ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับราคาที่อยู่อาศัย ปัจจุบันบางบริษัทเพิ่มวงเงินดาวน์ในเงื่อนไขการจองมากขึ้นสูงกว่าอัตราที่ ธปท. กำหนด เพื่อให้ได้ลูกค้าที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการแท้จริง
ขณะเดียวกันก็กำหนดช่วงระยะเวลาผ่อนดาวน์สั้นลง เนื่องจากมีประสบการณ์ว่า แม้ลูกค้าจองซื้อโครงการจะผ่านพรีแอพพรูฟกับสถาบันการเงิน แต่ระหว่างผ่อนดาวน์นานนับปีนั้นลูกค้าบางรายไปสร้างภาระหนี้เพิ่มด้วยบัตร เครดิตหรืออื่นๆ ทำให้สุดท้ายก็ไม่ผ่าน
และด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ "พรีคาสต์" ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ และอาคารชุดเร็วขึ้นมาก ทำให้ระยะเวลาการผ่อนดาวน์สั้นลง ลูกค้าต้องผ่อนดาวน์ต่องวดมากขึ้น
บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่หลายรายหันมาใช้นโยบายสร้างเสร็จก่อนขายที่อยู่อาศัยแนวราบ นั่นก็หมายความว่าผู้ซื้อต้องชำระเงินดาวน์ทั้งก้อนคราวเดียวแล้วนัดโอนกรรมสิทธิ์กันเลย หรือหากต้องการบ้านหลังที่อยู่ระหว่างก่อสร้างก็มีช่วงเวลาผ่อนดาวน์เพียงไม่กี่เดือนสั้นๆเท่านั้นเอง
การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวงเงินดาวน์และระยะเวลาผ่อนดาวน์ดังกล่าว นับเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของตลาดบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม เป็นการปรับตัวตามกลไกตลาดเพื่อลดความเสี่ยงและสร้างเสถียรภาพ
ฝ่ายที่รับบทหนักปรับตัวตามคือผู้บริโภคผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งจากนี้ไปยากจะเห็นแคมเปญ "ผ่อนดาวน์น้อยๆ ผ่อนดาวน์นานๆ" มีแต่ต้องเก็บออมเงินดาวน์ให้เพียงพอก่อนไปทำสัญญาจองซื้อที่อยู่อาศัย แม้จะยากขึ้นแต่ก็ยังดีกว่าผ่อนดาวน์ไปแล้วกู้ไม่ผ่าน หรือทางโครงการสร้างไม่เสร็จ
ที่มา : คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์