Giant's Causeway ทางเดินยักษ์ มหัศจรรย์ธรรมชาติบนมหาสมุทรแอตแลนติก

6,830 Views เผยแพร่ 1 มิ.ย. 58
Giants Causeway ทางเดินยักษ์ มหัศจรรย์ธรรมชาติบนมหาสมุทรแอตแลนติก

ทางเดินยักษ์ (Giant's Causeway) คือ กลุ่มเสาหินบะซอลต์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในแถบแนวชายฝั่งของไอซ์แลนด์ ดูเผินๆ ทางเดินยักษ์ นี้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชายฝั่งทรงเสน่ห์ในมณฑลแอนทริมของไอซ์แลนด์ มีลักษณะเป็นหัวแหลมที่มีพื้นเป็นรูปทรงและลายแปลกๆ แหลมยื่นออกมาจากตีนผาสูงชัน แล้วค่อยๆลาดลงทะเล คาดกันว่าสิ่งพิศวงทางธรณีวิทยานี้มีที่มาย้อนไปได้ราว 60 ล้านปีที่แล้ว

แท่งหินที่ทางเดินยักษ์นี้เกาะกลุ่มกันเป็นหาดธรรมชาติสามหาดเรียกว่า ทางเดินใหญ่ (Grand Causeway) ทางเดินกลาง (Middle Causeway) และทางเดินเล็ก (Littel Causeway) หินบ้างก้อนที่หาดทั้งสามนี้มีชื่อแปลกๆตามรูปทรง เช่น เก้าอี้สารพัดนึก พัด ยอดปล่องไฟ หินที่มีชื่อสมตัวมากคือ "ออร์แกนของยักษ์" ซึ่งสูงพ้นดินขึ้นมา 12 เมตร ทำให้มีรูปร่างเหมือนปล่องออร์แกนในโบสถ์

นอกไปจากทางเดินยักษ์แล้ว นอกชายฝั่งตะวันตกของสกอตแลนด์ไปทางเหนือประมาณ 120 กม. ที่ปลายอีกด้านหนึ่งของถนนแม็กคูล คือที่ตั้งของ เกาะสแตฟฟา ก็มีแท่งหินบะซอลต์เช่นเดียวกับทางเดินยักษ์ เกาะนี้ล้อมรอบด้วยหน้าผาหินสูง 40 เมตร ที่เกาะมี ถ้ำฟิงกอล (Fingal's Cave) ถ้ำนี้เจาะลึกเข้าไปในเกาะ 60 เมตร ทั้งพื้น ผนัง และหลังคาถ้ำล้วนเกิดจากแท่งหินบะซอลต์สีดำ

บิชอป แห่งเดรีค้นพบ ทางเดินยักษ์ ในปี ค.ศ.1692 แม้จะมีผู้เดินทางมาชมสถานที่นี้บ้างในคริสต์วรรษที่ 18 แต่ก็ไม่มีใครสนใจ จนกระทั่งถึงปลายศตวรรษ ในเวลานั้นภาพวาดทั้งแบบลายเส้นและภาพสีที่เหมือนจริงซึ่งวาดขึ้นโดยคำสั่งของ เฟรเดอริก เฮอร์วีย์ เอิร์ลบิชอป แห่งเดรี และโดยคำสั่งสมาชิกสมาคมดับลินและราชสมาคมแห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ทั้งนักวิทยาศาสตร์และประชาชนทั่วไปหันมาสนใจแท่งหินประหลาดเหล่านี้ หนึ่งในผู้มาเยือนเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้แก่ วิลเลียม แธเคอเรย์ นักเขียนนวนิยายผู้บรรยายว่าหินเหล่านี้ดู "ราวกับว่ามีอมตเทวีในเทพนิยายเก่าแก่ถูกขังอยู่ภายในโดยมีมังกรเฝ้าอยู่"

ตำนานเล่าว่า ฟินน์ แม็กคูล ยักษ์แห่งไอร์แลนด์สร้างถนนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจากบ้านของตนตรงชายฝั่งเขตแอนทริมในไอร์แลนด์เหนือไปสู่หมู่เกาะเฮบริดิส ซึ่งเป็นปราการของยักษ์สกอตชื่อ ฟินน์ กอลล์ ผู้เป็นศัตรู้คู่อาฆาต ยักษ์แม็กคูลได้รวบรวมแท่งหินยาวหลายร้อยแท่งเพื่อตอกลงไปในพื้นมหาสมุทรเป็นทางเดิน จากนั้นก็กลับไปพักที่บ้านก่อนจะเข้าโจมตีฟินน์ กอลล์ แต่ยักษ์ฟินน์ กอลล์ก็ฉวยโอกาสเดินข้ามจากบ้านในเกาะสแตฟฟาไปไอร์แลนด์เสียก่อน เมื่อภรรยาของยักษ์แม็กคูลล่อให้ยักษ์ฟินน์ กอลล์หลงเชื่อว่ายักษ์ที่กำลังนอนหลับอยู่นั้นคือลูกอ่อนของนาง ยักษ์ฟินน์ กอลล์ก็วิตกว่าหากลูกตัวโตเพียงนี้ตัวพ่อจะใหญ่สักปานใด จึงหนีกลับไปด้วยความกลัว ทันทีที่ออกสุ่ทะเลอย่างปลอดภัย ยักษ์ฟินน์ กอลล์ก็เริ่มดึงแท่งหินเบื้องหลังตนออกเพื่อไม่ให้ผู้อื่นใช้ถนนอีกต่อไป

บางตำนานก็เล่าว่า ฟินน์ แม็กคูล (หรีอเฟียน แม็กคัมเฮล) หัวหน้าเหล่านักรบที่เรียกว่า เฟียนนา เขายอมทุ่มเทอุทิศตนอย่างใหญ่หลวง ตอกเสาต้นแล้วต้นเล่าลงไปในทะเลเพื่อสร้างทางเดินให้แก่หญิงคนรักในขณะนั้น ซึ่งเป็นยักษิณีที่อาศัยอยู่บนเกาะสตาฟฟา เพื่อให้หญิงคนรักเดินทางมาเยี่ยมเขาในไอร์แลนด์ได้โดยที่เท้าไม่เปียกน้ำ

แม้ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้แล้วว่า "ทางเดินยักษ์" (Giant’s Causeway) มีที่มาอย่างไร แต่ก็ยังพอเข้าใจได้ว่าเหตุใดจึงเกิดตำนานดังกล่าวข้างต้น เฉพาะขนาดของทางนี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่ามันต้องเป็นสิ่งซึ่งสร้างโดยมือของยอดมนุษย์ เมื่อมองจากอากาศเราจะเห็นทางยาว 275 เมตร เลียบชายฝั่ง แล้วยื่นออกไปในมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศเหนือเป็นระยะทางยาว 150 เมตร แท่งหินในทางเดินส่วนใหญ่สูง 6 เมตร แต่บางแห่งจะสูงกว่านั้นถึงสองเท่า ลักษณะที่แท่งหินหลายแท่งมาประกบกันนั้นน่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก แท่งหินบะซอลต์ราว 40,000 แท่ง ซึ่งล้วนมีรูปร่างหลายเหลี่ยมด้านเท่า แต่ส่วนใหญ่เป็นรูปหกเหลี่ยมประสานสอดกันสนิทจนยากจะเสียบใบมีดลงไประหว่างรอยต่อได้

นอกไปจากตำนานแล้ว มีผู้เสนอทฤษฎีต่างๆเพื่ออธิบายถึงที่มาของทางเดินยักษ์ ครั้งหนึ่งเคยเชื่อกันว่าทางเดินนี้เป็นป่าไผ่ซึ่งกลายเป็นหิน หรือเกิดจากแร่ธาตุในน้ำทะเลตกตะกอนทับถมกัน แต่ปัจจุบันนักธรณีวิทยาส่วนมากเห็นพ้องต้องกันว่าทางเดินนี้เกิดจากภูเขาไฟเมื่อประมาณ 50 ล้านปีมาแล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ในไอร์แลนด์เหนือและสกอตแลนด์ตะวันตกเป็นดินแดนอันเต็มไปด้วยภูเขาไฟที่คุกรุ่น ช่องในเปลือกโลกเปิดออกครั้งแล้วครั้งเล่าปล่อยลาวาออกมาไหลท่วมผืนดิน ลาวาที่ท่วมมีความลึกกว่า 180 เมตร เมื่อลาวาเย็นลงก็จะแข็งตัว ลาวที่ไหลออกมาใหม่ก็จะมาทับถมลาวาหลอมเหลวซึ่งถมทับพื้นหินบะซอลต์ราบจะเย็นลงและหดตัวอย่างเชื่องช้าและสม่ำเสมอ สารประกอบทางเคมีในลาวาบอกให้ทราบว่าความกดดันที่เกิดขึ้นในผิวที่กำลังเย็นลงกระจายจากจุดศูนย์กลางออกไปในอัตราเท่าๆกัน ลาวาจึงแยกจากกันเป็นรูปเหลี่ยมที่มีด้านแต่ละด้านเท่ากันส่วนใหญ่มักเป็นรูปหกเหลี่ยม ปฏิกิริยาเช่นนี้ครั้งเดียวจะเป็นแม่แบบให้เกิดปฏิกิริยาครั้งต่อๆไป ทำใหเกิดรูปหกเหลี่ยมทั่วพื้นผิวลาวา เมื่อการเย็นตัวของลาวาลามลึกลงไปถึงชั้นแผ่นหินบะซอลต์ แท่งเสารูปหกเหลี่ยมก็เกิดขึ้น

ลาวาชั้นบนสุดซึ่งเย็นตัวก่อนจะหดตัวและแตกเป็นรูปหลายเหลี่ยมด้านเท่า คล้ายๆกับโคลนซึ่งแตกบนก้นแม่น้ำอันแห้งงวด ขณะที่หินในระดับลึกลงไปเย็นและหดตัวลง รอยแตกบนผิวก็ลามลึกลงไปตลอดเนื้อลาวา ทำให้หินแยกออกเป็นเสาตั้งตลอดระยะหลายพันปี พลังของน้ำทะเลก็ค่อยๆกัดเซาะแท่งหินบะซอลต์อันทนทานทำให้มันมีความสูงต่างกัน ความช้าเร็วของการเย็นตัวของลาวาทำให้แท่งหินมีสีสันต่างกันออกไป ขณะที่หินเย็นลงมันจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน หินจะค่อยๆเปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีน้ำตาล สีเทา และสีดำในที่สุด

ทางเดินนี้ก่อใหเกิดแรงบันดาลใจแก่ศิลปินและนักประพันธ์รุ่นแล้วรุ่นเล่า นักประพันธ์ยุคโรแมนติกตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 พรรณนาไว้ได้อย่างน่าฟัง นักประพันธ์ผู้หนึ่งเรียกทางเดินนี้ว่า "แท่นบูขาและวิหารแห่งธรรมชาติ…สร้างขึ้นให้มีความสมมาตร และงามสง่า เป็นงานอันยิ่งใหญ่โอฬารและอาจหาญซึ่งธรรมชาติเท่านั้นจะทำได้สำเร็จ" แต่คำบรรยายที่เหมาะสมที่สุดน่าจะได้แก่คำบรรยายของเซอร์โจเซฟ แบงก์ส นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาที่ว่า "เมื่อเปรียบเทียบกับงานชิ้นนี้ มหาวิหารหรือพระราชวังที่มนุษย์สร้างขึ้นจะเป็นอะไรได้…นอกจากแบบจำลองหรือ ของเล่นเท่านั้น"

 

ดูผ่าน Google Earth คลิกที่นี่

ดูผ่าน Google Street View 1 คลิกที่นี่

ดูผ่าน Google Street View 2 คลิกที่นี่

ดูผ่าน Google Street View 3 คลิกที่นี่

หมวดบทความ :

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ