ปัจจุบันจะสังเกตได้ว่าหนึ่งในโปรโมชั่นกระตุ้นผู้ซื้อบ้าน ผู้ที่กำลังพิจารณาเลือกขอสินเชื่อธนาคารนั้นก็คือ การแข่งขันเรื่องอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่ต่ำกว่าปกติ แน่นอนว่านอกจากจะเลือกพิจารณาระหว่างธนาคาร ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่างกันแล้ว ยังพบว่า สินเชื่อบ้านในธนาคารเดียวกัน ก็สามารถต่างกันได้ตามปัจจัยส่งเสริมการขายอย่าง "การทำประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (MRTA)" ด้วย วันนี้บ้านคุ้มค่าจะพาทุกท่านมาเรียนรู้เรื่องนี้กัน
MRTA คืออะไร ?
MRTA หรือ MORTGAGE REDUCING TERM ASSURANCE มีหลากหลายชื่อภาษาไทย เช่น ประกันชีวิตคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ, ประกันสินเชื่อบ้าน เป็นต้น มีวัตถุประสงค์เพื่อ การคุ้มครองผู้ขอสินเชื่อบ้าน ตามจำนวนทุนประกันและระยะเวลาประกัน หากในช่วงเวลาดังกล่าว ผู้ขอสินเชื่อบ้านเกิดทุพพลภาพหรือเสียชีวิต กรมธรรม์จะเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายยอดหนี้คงค้างให้กับสถาบันการเงินเอง ทำให้บ้านที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระนั้น ไม่ตกเป็นภาระของครอบครัว รายละเอียดการทำประกัน MRTA หลักๆ ได้แก่
- ทุนประกัน จะกำหนดเป็น% ของวงเงินกู้ หรือ จำนวนเงินตายตัว ตามเงื่อนไขกำหนดของสถาบันการเงินนั้น
- ระยะเวลาเอาประกัน มักอยู่ในช่วง 5-30 ปี
- ระยะเวลาผ่อนชำระ มีทั้งการชำระครั้งเดียว หรือ รวมยอดเข้ากับเงินกู้ ตามเงื่อนไขกำหนดของสถาบันการเงินนั้น
ข้อดีของการทำ MRTA คืออะไร ?
- สินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติเฉลี่ย 0.10 - 0.50% เนื่องจากความเสี่ยงผู้ขอสินเชื่อบ้านที่ทำ MRTA มีน้อยกว่าผู้ขอสินเชื่อที่ไม่ได้ทำประกัน ธนาคารผู้ได้รับประโยชน์ส่วนนี้จึงคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติ เพื่อจูงใจผู้ขอสินเชื่อ
- ลดภาระครอบครัว กรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด อย่างน้อยก็ยังมีกรมธรรม์เป็นผู้รับภาระยอดหนี้ค้างชำระที่เหลือตามทุนประกัน
- กรณีปลดหนี้ได้ก่อนครบอายุสัญญากรมธรรม์ สามารถเวนคืนประกันเพื่อเรียกเบี้ยประกันในช่วงเวลาที่เหลือคืนได้
ข้อเสียของการทำ MRTA คืออะไร ?
- กรณีทำประกันไม่ครอบคลุมระยะเวลาสินเชื่อ ส่วนต่างระหว่างยอดหนี้คงค้างกับทุนประกัน ทางครอบครัวผู้กู้ต้องรับผิดชอบเอง เช่น ขอสินเชื่อบ้าน 2 ล้านบาท อายุ 20 ปี แต่ทำประกัน MRTA 10 ปี ทุนประกันจึงไม่ครอบคลุมมูลค่าบ้านเต็มจำนวน สมมติหากปีที่ 8 ยอดหนี้สินเชื่อคงเหลือ 1.3 ล้านบาท แต่ทุนประกันเหลือ 150,000 บาท ดังนั้น ส่วนต่าง 1.15 ล้านบาท ทางครอบครัวผู้กู้ต้องรับผิดชอบเอง
- กรณีทำประกันครอบคลุมระยะเวลาสินเชื่อ จะเสียเบี้ยประกันค่อนข้างสูงมาก เช่น สินเชื่อบ้าน 3 ล้านบาท ทำประกัน 30 ปี จะเสียเบี้ยประกันประมาณ 280,000 บาท เป็นต้น
ทั้งนี้ การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อเป็นสิทธิของผู้ขอสินเชื่อไม่สามารถบังคับให้ทำได้ ซึ่งนอกจากบริการของทางธนาคารแล้ว ก็ยังมีบริการของทางบริษัทประกันให้เลือกพิจารณาด้วย ดังนั้นควรพิจารณารายละเอียดการคุ้มครอง เปรียบเทียบเงื่อนไข พิจารณาทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการของตัวคุณเองก่อนตัดสินใจ
เพราะเรารู้ว่า "บ้าน" เป็นสิ่งสำคัญ เลือกอสังหาฯ
เลือก..บ้านคุ้มค่า