ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้าน จึงควรพิจารณาไตร่ตรองรายละเอียดข้อมูลอย่างรอบคอบในทุกขั้นตอน ดังนี้
1. ไตร่ตรองความพร้อมก่อนคิดจะซื้อบ้าน
ควรประเมินกำลังซื้อของตนเองก่อน โดยพิจารณาปัจจัย 3 ประการดังนี้ คือ เงินออม , เงินกู้ยืม และเงินรายได้ ซึ่งก่อนจะซื้อบ้าน คุณควรมีเงินออมอย่างน้อย 10-20% เพื่อเป็นเงินก้อนสำหรับการจ่ายเงินดาวน์ครั้งแรก แต่หากไม่ได้เตรียมไว้ในสัดส่วนดังกล่าว คือไม่มีเงินออมสำรองไว้เลย จะทำให้คุณมีภาระเงินกู้ที่หนักขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงแต่เงินต้นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเป็นรายวันอีกด้วย
2. คิดความต้องการพื้นฐานจากบ้านที่คุณต้องการ
ประเมินความต้องการพื้นฐานของตัวคุณและครอบครัว เช่น จำนวนสมาชิก จำนวนห้องนอน จำนวนที่จอดรถ ระยะทางในการเดินทางของคุณและคนในครอบตรัว เป็นต้น ซึ่งการประเมินนี้ต้องรวมถึงการวางแผนครอบครัวในอนาคตของคุณด้วย เช่น การมีบุตร การรับบุพการีมาอยู่ด้วย เป็นต้น
3. ค้นหาบ้านที่ตอบโจทย์ความต้องการ และกำลังซื้อของคุณ
เมื่อผ่าน 2 ข้อข้างต้นมาแล้วทีนี้ก็ถึงจุดที่อาจทำให้คุณต้องปวดหัว กับปัญหาซ้ำซากที่ทุกคนเจอ ไม่ว่าจะเป็นทำเลถูกใจราคาสูงไป ราคาถูกแต่เดินทางไกล มือสองทำไมแพงกว่ามือหนึ่ง เป็นคำถามวนเวียนเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งคุณควรใช้วิธีการให้คะแนนความสำคัญในเป็น Checklist ที่ได้มาจาก 2 ข้อข้างต้น แล้วให้คะแนนบ้านแต่ละหลังที่คุณกำลังพิจารณา จะทำให้คุณเห็นภาพความคุ้มค่าจากบ้านแต่ละหลังชัดเจนมากขึ้น ซึ่งทางบ้านคุ้มค่าช่วยยกตัวอย่าง Checklist ในการพิจารณาให้คะแนนดังนี้
- ราคาอยู่ในงบประมาณที่ประเมินไว้
- จำนวนชั้น ห้องนอน ห้องน้ำ หรือสเปคอื่นตรงตามความต้องการ
- ความสะดวกสบายด้านการเดินทาง และเส้นทางคมนาคม
- ใกล้พื้นที่ให้บริการสาธารณะ หรือสถานีที่สำคัญต่างๆ
- พื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ หรือมลภาวะ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ
- การบริหารส่วนกลาง และค่าใช้จ่ายรายเดือนหรือรายปี
- สิ่งอำนวยความสะดวกทั่วไป
- เปรียบเทียบราคากับตัวบ้านและวัสดุที่ใช้
4. ต่อรองราคาก่อนตัดสินใจ เพื่อให้ได้รับผลประโยชน์อันสูงสุด
ควรพิจารณารายละเอียดและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ แล้วทำการเจรจาต่อรองกับผู้ขายโครงการ หรือผู้ถือครองเดิม (กรณีเป็นบ้านมือสอง) เมื่อพบบ้านที่ถูกใจแล้วควรพยายามต่อรองราคาซื้อขายก่อนเพื่อให้ได้รับผลประโยชน์อันสูงสุด คุ้มค่ากับการซื้อขายและประหยัดงบประมาณให้ได้มากทีสุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วผู้ขายจะตั้งราคาขายเผื่อการต่อรองไว้อยู่แล้ว หากมีคนสนใจที่จะซื้อจริงๆ โดยอาจมีเหตุผลหลายประการในการต่อรอง เช่น ราคาตลาดในย่านใกล้เคียง สภาพของบ้านที่จะซื้อ ข้อเสียที่เห็นได้อย่างชัดเจนของบ้าน เป็นต้น
5. เลือกผู้ให้สินเชื่อ/ธนาคาร ที่เหมาะสมและได้ผลประโยชน์อันสูงสุด (กรณีไม่ได้ซื้อขายด้วยเงินสด)
ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นกับผู้ซื้อหลายๆคนคือ มุ่งตรงไปที่ธนาคารที่ปล่อยดอกเบี้ยต่ำที่สุด! แต่อย่าลืมว่า การกู้ซื้อบ้านเป็นการกู้ระยะยาว ดังนั้นไม่ควรมองแค่ดอกเบี้ยในระยะ 1-3 ปีเท่านั้น แต่ให้มองไปถึงระยะยาวว่าธนาคารกำหนดไว้อย่างไร (สินเชื่อส่วนใหญ่มักกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำในช่วง 1-3 ปีแรกเพื่อดึงดูดลูกค้า แต่ส่วนใหญ่แล้ว สินเชื่อเหล่านี้เมื่อนำมาคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย มักจะสูงกว่าสินเชื่อทั่วไป) นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงปัจจัยอื่นๆควบคู่ไปด้วย เช่น ระยะเวลาการกู้, เงื่อนไขต่างๆ, ค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอืนๆ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ตัวผู้กู้เอง
นอกจากนี้หากคุณซื้อโครงการใหม่จากผู้ประกอบการ ลองสอบถามพนักงานขายว่าโครงการมีโปรโมชั่นกับธนาคารใดบ้าง เพื่อสิทธิรับดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ อีกทั้งการทำสินเชื่อร่วมกับการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อจะทำให้ได้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการไม่ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ
เพราะเรารู้ว่า "บ้าน" เป็นสิ่งสำคัญ เลือกอสังหาฯ เลือก..บ้านคุ้มค่า