รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ให้การแถลงข่าวชี้แจงการเสนอแผนการตรวจสอบเชิงลึก กรณีอาคารแฟลตดินแดง ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีข่าวเรื่องการฟื้นฟู ที่อยู่อาศัยบริเวณแฟลตดินแดงและได้มีชุมชนไม่เห็นด้วยกับแผนการดำเนินการ ดังกล่าว และเรียกร้องให้หน่วยงาน วสท. เข้าไปตรวจสอบพร้อมกับสอบถามว่าเหตุใด วสท. จึงยังไม่เข้าไปดำเนินการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์ (วสท.) จึงขอชี้แจงความเป็นมาของโครงการตรวจสอบสภาพอาคารและศึกษาวิเคราะห์โครงการ ฟื้นฟูแฟลตการเคหะชุมชนดินแดงจำนวน 32 หลัง ของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งในเบื้องต้น วสท.ได้รับการร้องขอจากการเคหะแห่งชาติและผู้อยู่อาศัยภายในแฟลตดินแดงบางส่วน ที่มีความกังวลต่อความทรุดโทรมของอาคารที่ก่อสร้างมานานไม่น้อยกว่า 50 ปีนั้น จะมีความมั่นคงแข็งแรงเพียงพอที่จะใช้พักอาศัยต่อไปได้อีกนานเท่าไร
โดยทั้งการเคหะแห่งชาติและผู้อยู่อาศัยยินดีที่จะรับฟังและยินยอมปฏิบัติตาม ผลการตรวจสอบที่ วสท. เป็นผู้ดำเนินการ จากนั้น วสท. ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญนำเครื่องมืออุปกรณ์ลงพื้นที่ตรวจสอบกายภาพเบื้องต้น เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา และต่อมาได้ส่งเสนอแผนการตรวจสอบเชิงลึกรวมทั้งการศึกษาวิเคราะห์เชิง วิศวกรรมไปยังการเคหะแห่งชาติ ได้มีการปรับแต่งรายละเอียดการตรวจสอบ การวิเคราะห์และการตกลงยอมรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซึ่งจำเป็นต้องมี และสุดท้าย วสท.ได้จัดทำแผนหลักในการปฏิบัติการเสนอการเคหะเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการรวมเวลาไม่เกิน 120 วัน จากนั้นมาถึงบัดนี้ วสท. ยังไม่ได้รับการยืนยันตอบรับเพื่อให้ดำเนินการต่อแต่อย่างใด
รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการลงพื้นที่สำรวจแฟลต 32 หลัง เพื่อตรวจสภาพอาคารในเบื้องต้นและให้ข้อมูลในการวิเคราะห์แก่ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ว่า วสท. จะดำเนินการตามหลักวิชาการและวิศวกรรม และนำเสนอผลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่ชุมชนและผู้อยู่อาศัยในการยกระดับคุณภาพชีวิต วสท.จะไม่ชี้แนะไปทางใดทางหนึ่ง คือจะไม่สรุปว่าอาคารควรจะซ่อมหรือจะทุบทิ้ง แต่จะนำเสนอผลการตรวจสอบและวิเคราะห์ประเมินให้ทราบว่าหากจะซ่อมให้มีความ มั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยต่อการต้านทานแรงแผ่นดินไหวตามข้อกำหนดในกฏกระทรวงจะต้องใช้งบ ประมาณเท่าไร หรือหากจะทุบอาคารเหล่านี้ทิ้งและสร้างอาคารขึ้นใหม่ จะใช้งบประมาณเท่าไร การใช้ชีวิตในแบบปัจจุบันกับในแบบใหม่นั้นมีความแตกต่างกันในเชิงเศรษฐกิจอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น
และข้อมูลทั้งหมดนี้มอบให้ทั้งการเคหะแห่งชาติและผู้พักอาศัยได้ไปปรึกษาหา ข้อสรุปที่สามารถจะตกลงกันได้ โดยทาง วสท. ได้เสนอแผนและขอบข่ายในการศึกษาวิเคราะห์เชิงวิศวกรรม 3 ด้าน คือ
- การศึกษาประเมินกำลังที่เหลืออยู่ของอาคาร และความสามารถในการรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวเพียงพอในระดับใด
- หากจะใช้วิธีการซ่อมและเสริมกำลัง จะมีวิธีการใดและมีค่าใช้จ่ายอย่างไร ซึ่งจะต้องคำนึงถึงกรณีแผ่นดินไหว และผู้อยู่อาศัยจะอยู่อย่างไรในอาคารที่กำลังซ่อมแซม
- กรณีรื้ออาคารเก่าแล้วสร้างใหม่จะลงทุนเท่าไร จะมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่อย่างไร
ขั้นตอนการตรวจสอบสภาพอาคารแฟลตเคหะชุมชนดินแดงนั้น แบ่งออกเป็น 3 phase คือ
Phase 1 เป็นการตรวจสอบด้านกายภาพ โดยวิธีการตรวจพินิจ (Visual Inspection) และการตรวจสอบกำลังอัดคอนกรีตเพื่อเปรียบเทียบกัน โดยใช้ Schmidt Hammer โดยจะตรวจสอบทุกอาคาร ทุกชั้นและทุกห้องเท่าที่จะทำได้มากที่สุด จากนั้นจะจัดระดับอาคารโดยวิธีการทำ Condition Rating เพื่อเป็นการแบ่งกลุ่มอาคารตามลำดับความบกพร่องไม่น้อยกว่า 4 กลุ่ม
Phase 2 คือ การตรวจสอบเชิงลึก กลุ่มต่างๆที่เลือกไว้ใน Phase 1 ก็จะทำการสุ่มในแต่ละกลุ่มเพื่อตรวจสอบกำลังอัดคอนกรีต, เหล็กเสริม, เสาเข็ม และการเสื่อมสภาพของคอนกรีต การเป็นสนิมของเหล็กเสริม เป็นต้น โดยสุ่มตัวอย่างแต่ละกลุ่มไม่น้อยกว่า 2 อาคาร นอกจากนี้จะต้องตรวจสอบความสามารถต่อการรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวอีกด้วย โดยการเข้าโปรแกรมและแสดงการ simulation ให้ดูสภาพเสมือนจริง
Phase 3 คือการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยเบื้องต้น และการจัดทำวิดีทัศน์สำหรับการเผยแพร่
รศ.สิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันในการก่อสร้างอาคารใหม่ต้องคำนึงถึงการออกแบบอาคารให้มีความสามารถ รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน, การทรุดตัวของดินในพื้นที่นั้นๆ รวมถึงการบริหารการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของโครงการหรือผู้รับเหมาก่อสร้างต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย"
ตลอดระยะเวลา 72 ปี วสท. ยังยึดมั่นในประโยชน์ของสาธารณชนและการนำวิศวกรรมมายกระดับคุณภาพชีวิต ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงปลอดภัยในสังคม โดยยินดีให้ความร่วมมือสนับสนุนด้านวิชาการกับทุกหน่วยงาน