บ้านคนจนไม่เปรี้ยง "พฤกษา-เพอร์เฟค" สนลงทุนคอนโดฯ ไม่เกิน 6 แสนบาท แค่ 3 พันยูนิต เกี่ยงต้นทุนพุ่ง ขอลดหย่อนภาษีเท่าเกณฑ์บ้านบีโอไอ "LPN-คิวเฮ้าส์-บีทีเอส" รอเงื่อนไขชัดเจน ซีพีลุยเขต ศก.พิเศษแม่สอด
ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานว่า จากนโยบายรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ต้องการเร่งแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (2559-2568) เพื่อผู้มีรายได้น้อย 2.726 ล้านครัวเรือน ด้วยเงินลงทุนรวม 697,860 ล้านบาทนั้น แยกสัดส่วนโดยให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ดำเนินการ 1.68 ล้านหน่วย ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล เมืองหลักและในภูมิภาค 91,657 หน่วย เป็นอาคารสำหรับกลุ่มเช่าซื้อ 441,901 หน่วย และพัฒนาร่วมกับเอกชน 700,207 หน่วย สร้างเป็นอาคารเช่ามาตรฐาน 310,094 หน่วย และให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. รับผิดชอบอีก 1 ล้านครัวเรือน
ซึ่ง 3 ปีแรก (2559-2561) จะรองรับให้ได้ 515,268 ครัวเรือน ใช้ลงทุน 95,596 ล้านบาท เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย 87,589 หน่วย ล่าสุด ภาคเอกชนมีแนวโน้มตอบรับนโยบายของรัฐค่อนข้างชัดเจนขึ้น
พฤกษาขอ 2 พันยูนิต
นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สนใจจะพัฒนาเพราะบริษัทเคยสร้างบ้านบีโอไอมาแล้ว เป็นทาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 6 แสนบาท แต่ขอดูเงื่อนไขและรายละเอียดก่อน ซึ่งตอนนี้ราคา 6 แสนบาททำได้ยาก เพราะต้นทุนที่ดินและวัสดุแพงขึ้น ปัจจุบัน ทาวน์เฮาส์ต้องมีราคา 1.5 ล้านบาท คอนโดฯ ประมาณ 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ ต้นทุนก่อสร้างบ้านปัจจุบัน บ้านเดี่ยวอยู่ที่ 15-25% ทาวน์เฮาส์ 15-20% และคอนโดฯ 25% แต่ถ้าได้ที่ดินรัฐมาพัฒนาจะช่วยประหยัดเงินลงทุนได้ 15-25% แต่ราคาขายก็ต้องสูงกว่า 6 แสนบาท สมมุติบ้านราคา 1 ล้านบาท ประหยัดต้นทุน 25% ลดไป 2.5 แสนบาท ราคาขายยังอยู่ที่ 7.5-8 แสนบาท
"รัฐต้องช่วยเรื่องลดหย่อนภาษี หลักเกณฑ์ จะคล้ายบีโอไอที่ให้สิทธิภาษีนิติบุคคล แต่บ้านบีโอไอยกเลิกไปแล้ว คงต้องคุยกันจะกลับมาทบทวนใหม่หรือไม่ ถ้าเอกชนหาที่มาพัฒนาเอง แค่ลดภาษีก็ทำให้คนซื้อบ้านถูกลง 8-10%" นายทองมากล่าวและว่า
ส่วนราคาไม่เกิน 6 แสนบาทที่รัฐกำหนดนั้น ต้องสร้างเป็นคอนโดฯ ซึ่งรัฐจะต้องอุดหนุนส่วนต่างให้ เช่น ราคา 8 แสนบาท ต่อยูนิต รัฐต้องอุดหนุนให้ 2 แสนบาท เพื่อเอกชนจะตั้งราคาขาย 6 แสนบาทได้ ถ้าตามนี้บริษัทก็พร้อมจะสร้างให้ 1,000-2,000 ยูนิต
เพอร์เฟคขอสร้างพันยูนิต
ก่อนหน้านี้นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ให้สัมภาษณ์ว่า สนใจจะพัฒนาบ้านผู้มีรายได้น้อยและกำลังศึกษารายละเอียด อาจจะร่วมทุนกับบริษัท รายอื่นสร้างได้ 1,000 หน่วย
"เราสนใจจริงและคงทำแน่ รอแค่ผลศึกษา ทั้งเงื่อนไขรัฐ เรื่องขนาดที่ดิน ทำเล ถ้าตั้งราคาไม่เกิน 6 แสนบาทจะต้อง เป็นคอนโดฯ 24-25 ตร.ม. ที่ผ่านมา บริษัทเคยสร้างคอนโดฯราคาต่ำสุด เริ่มต้น 1 ล้านบาท"
LPN ยังแบะท่า
นายจรัญ เกษร กรรมการ บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัทยังรอฟังเงื่อนไขจากภาครัฐอยู่ หลังเข้าประชุมกับ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการหารือเพื่อเสนอแนวทางในฐานะที่บริษัทสามารถพัฒนาคอนโดมิเนียมราคา 6-7 แสนบาทต่อยูนิตได้
โดยบริษัทร่วมกับ 3 สมาคม คือ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย เสนอว่าควรผ่อนปรนกฎหมายบางอย่าง เช่น ขนาดห้องชุดที่ได้รับการสนับสนุนจาก บีโอไอ ควรลดขนาดจาก 28 ตร.ม. เหลือ 21.5 ตร.ม. จึงจะควบคุมต้นทุนได้ และรัฐควรสนับสนุนด้านอื่น ๆ เช่น ลดหรือยกเว้นภาษีนิติบุคคล ภาษีโรงเรือน เร่งการพิจารณาแบบก่อสร้างและอีไอเอให้เร็วขึ้น ปกติจะใช้เวลา 6-8 เดือน จึงจะสามารถพัฒนาได้จริง
คิวเฮ้าส์-บีทีเอส สนใจ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ควอลิตี้เฮ้าส์ กล่าวว่า ขอรอดูแนวทางของ 3 สมาคมในกลุ่มอสังหาฯก่อนว่า คิดเห็นอย่างไร เพราะบริษัทคงไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง เนื่องจากสร้างบ้าน ไม่เกิน 6 แสนบาทค่อนข้างยาก
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า สนใจจะพัฒนาเช่นกัน แต่ขอดูรายละเอียดก่อน จะพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงทำเลที่จะพัฒนาด้วย
"ก่อนหน้านี้เคยเสนอแนวคิดให้กระทรวงคมนาคม อยากทำที่อยู่อาศัยราคาถูกบนที่ดินของการรถไฟฯ แนวรถไฟฟ้าสาย สีแดง เช่น เชียงรากน้อย บางปะอิน และบางซื่อ ล่าสุดก็ยังรอความชัดเจนอยู่ ถ้าเปิดประมูลได้เมื่อไหร่ บริษัทก็พร้อม"
นาย วุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า อยู่ระหว่างสำรวจที่ดินแนวรถไฟรัศมีไม่เกิน 200 กม. จากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายในปลายเดือน พ.ย.จะสรุปได้ว่า มีพื้นที่ไหนบ้าง เช่น สถานีเชียงรากน้อย
เคหะฯ ลุยลอตแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ กคช.เตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเป็นรายโครงการเดือน ธ.ค.นี้ หลังคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) อนุมัติกรอบแผนงานแล้ว มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 เริ่มปี 2559-2561 จำนวน 43 โครงการ 11,559 หน่วย เงินลงทุน 1 หมื่นล้านบาท
แยกเป็นเคหะชุมชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 30 โครงการ 10,167 หน่วย ราคาเริ่มต้น 5.5-7 แสนบาท เป็นอาคารชุด 3-5 ชั้น บ้านแถว 2 ชั้น บ้านเดี่ยว 1-2 ชั้น บ้านแฝด 2 ชั้น (ดูรายละเอียด น.8) และโครงการกลุ่มระดับกลางขึ้นไป ขาย 1 ล้านบาทขึ้นไป มี 13 โครงการ 1,392 หน่วย เป็นอาคารพาณิชย์ 3-3.5 ชั้น ทาวน์โฮม 2 ชั้น บ้านแถว 2 ชั้น บ้านเดี่ยว 1-2 ชั้น ทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น และอาคารเช่า 32 โครงการ 10,107 หน่วย เงินลงทุน 5,070 ล้าน เริ่มปี 2559-2563 เป็นอาคารชุดขนาด 28-32 ตร.ม.ค่าเช่าเฉลี่ย/เดือน/ห้อง 1,500 บาทในทำเลต่างจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ 2,000-2,500 บาท
ซี.พี.ร่วมวงเขต ศก.
แหล่งข่าวจาก บมจ.ซี.พี.แลนด์ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดการเข้าร่วมประมูลพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 6 พื้นที่ ได้แก่ แม่สอด มุกดาหาร ตราด สระแก้ว สงขลา และหนองคาย หลังกรมธนารักษ์เตรียมให้เอกชนรายเดียวเช่าพื้นที่พัฒนา 50 ปี และขยายเวลาอีก 50 ปี
"บริษัทลงทุนธุรกิจโรงแรม อาคารสำนักงาน และคอนโดฯในพื้นที่เขตเศรษฐกิจอยู่แล้ว ที่สนใจขณะนี้คือแม่สอด จ.ตาก มีพื้นที่ให้เอกชน 1,300 ไร่ เพราะมีการลงทุนมากที่สุด"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ