กทม. ชงโยธาฯ ปล่อยผีตึกร้างสูง-ใหญ่ทั่วกรุง 67 อาคารเดินหน้าสร้างต่อโดยผ่อนผันใช้ใบอนุญาตเดิมภายใน 7 ปี หลังกฎกระทรวงผ่อนผันหมดอายุปี 2557 สถาปนิกดัง "รังสรรค์ ต่อสุวรรณ" เจ้าของสาทรยูนิคทาวเวอร์ ชี้เปิดทางนายทุน-สถาบันการเงินช็อปไปพัฒนาต่อ
นายนพดล ฉายปัญญา ผู้อำนวยการกองควบคุมอาคาร กรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้มีหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ขยายอายุกฎกระทรวงมหาดไทยกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารสำหรับอาคารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จปี 2552 ผ่อนผันเป็นเวลา 5 ปีและอายุลงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2557 ให้สามารถบังคับใช้ต่อไปอีก 7 ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือออกเป็นกฎกระทรวงใหม่ บังคับใช้ต่อไป
ชงต่อใบอนุญาต
ทั้งนี้เพื่อผ่อนผันให้อาคารร้างที่มีอยู่ขณะนี้ ที่สำรวจพบ 32 โครงการ 67 อาคาร เฉลี่ยอาคารละ 200 หน่วย สามารถก่อสร้างต่อได้โดยใช้ใบอนุญาตเดิมเพื่อช่วยเจ้าของอาคาร สถาบันการเงิน ให้อาคารร้างก่อสร้างต่อจนเสร็จและแก้ปัญหาแหล่งมั่วสุม วิธีการ คือเจ้าของอาคารสามารถยื่นสิทธิ์ใช้ใบอนุญาตเก่าและแบบก่อสร้างเดิม ในระยะเวลาที่กำหนด เช่นที่ผ่านมาเคยขออนุญาต 15 ชั้น สร้างเป็นคอนโดมิเนียม ค้างไว้ 4 ชั้น ก็ผ่อนผันสร้างไม่เกิน 15 ชั้นให้จบ ซึ่งมั่นใจว่า กรมโยธาธิการฯ จะต่ออายุกฎกระทรวงดังกล่าว ที่ผ่านมาอาคารร้างที่เป็นอาคารสูงในช่วงวิกฤติปี 2540 มีจำนวนประมาณ 200 อาคาร แต่เมื่อออกกฎกระทรวงผ่อนผันไปรอบแรก ตั้งแต่ปี 2552-2557 ปัจจุบันเหลือเพียง 67 อาคารดังกล่าว
ยูนิคทาวเวอร์ค้างแค่ระบบ
สำหรับอาคารก่อสร้างค้างใน กทม.ในทำเลสำคัญๆ ได้แก่ อาคารยูนิคทาวเวอร์คอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านเจริญกรุง สูง 47 ชั้น ที่ก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จเหลือเพียงติดตั้งระบบ หากก่อสร้างให้แล้วเสร็จก็จะต้องแจ้งกทม. เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหานักลงทุนใหม่ เพื่อซื้อกิจการ ส่วนอีกอาคารติดกันสูง 68 ชั้น ของแชลเลนท์กรุ๊ป ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว นอกจากนี้ยังมีอาคารย่านบางรัก สุขุมวิท ดินแดง รัชดาฯ เป็นต้น
นายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ได้รับหนังสือขอต่ออายุกฎกระทรวง อาคารร้างแล้ว ซึ่งคาดว่าจะเร่งดำเนินการต่อไป ปัญหาใหญ่อาคารที่ค้างประมาณกว่า 60 อาคาร ส่วนใหญ่จะติดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งจะอยู่ในสถาบันการเงิน และอาจมีนักลงทุนสนใจซื้อในราคาถูก
ขณะเดียวกันช่วงปี 2542 เป็นจังหวะของกฎกระทรวง ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครบังคับใช้ ซึ่งมีความ เข้มข้น ห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตรหรือเกิน 8 ชั้นในซอยที่มีความกว้างของถนนต่ำกว่า 10 เมตร กฎกระทรวงฉบับที่ 55 เว้นระยะถอยร่นรอบอาคาร ข้างละ 6 เมตร รวมทั้งการติดตั้งระบบดับเพลิงสำหรับอาคารสูงใหญ่ เป็นต้น ขณะที่อาคารเก่า ที่ได้ใบอนุญาตมาก่อนหน้านี้ หากต่ออายุก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ ที่สำคัญใบอนุญาตจะต่ออายุปีต่อปี เมื่อประสบปัญหาหยุดสร้างไม่ว่ากรณีใดๆ จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อย่างไรก็ดี หากทุกอย่างขับเคลื่อนได้ เอกชนและสถาบันการเงินเจรจาตกลงกันได้ ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อได้
รังสรรค์-เอกชนขานรับ
นายรังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังและประธานกรรมการ บริษัท สาทรยูนิคทาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า เห็นด้วยกับกทม.ที่จะผลักดันให้อาคารสร้างค้างเดินหน้าต่อได้ มองว่าทั้งรัฐ เอกชน สถาบันการเงิน ศาล น่าจะร่วมกันหาทางออกผ่อนผัน เชื่อว่าสามารถช่วยเอกชนปลดล็อกและก่อสร้างได้ สำหรับอาคารสาทรยูนิคทาวเวอร์ ก่อสร้างไปแล้ว 90% เมื่อปี 2540 เหลือเพียงติดตั้งระบบตกแต่งภายในการยุติการก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหานายทุนซื้อโครงการทั้ง 600 หน่วย มูลค่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งมีบริษัทต่างชาติให้ความสนใจ คือนักลงทุนจากจีนและฮ่องกง และหากสามารถหานายทุนซื้อกิจการได้ ก็จะนำเงินที่ได้ จ่ายคืนให้กับลูกบ้าน 600 ราย บริษัทสี่พระยาก่อสร้างฯ ผู้รับเหมา และธนาคารเกียรตินาคินที่ซื้อหนี้ไปเพียง 74 ล้านบาท ช่วงที่โครงการถูกขายทอดตลาดในองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) และนำไปบอกขายต่อ 900 ล้านบาท ซึ่งบริษัทขอซื้อ 500 ล้านแต่ยังตกลงกันไม่ได้และเรื่องยังค้างอยู่ที่ศาล
นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านฉัตรเพชร ซึ่งมีปัญหาเช่นเดียวกับ โครงการสาทรยูนิคทาวเวอร์ ซึ่งก่อสร้างไปและต้องหยุดสร้างเพราะปัญหาฟองสบู่แตก และหยุดสร้างปี 2542 ตั้งอยู่ถนนจรัญสนิทวงศ์ 95/1 เนื้อที่ 10 ไร่ มีแผนพัฒนาคอนโดมิเนียม 10 อาคาร แต่สร้างบางส่วนไปได้ 3 อาคาร ต้องยุติการก่อสร้างกลางคัน
นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ กรรมการบริษัท สาทรยูนิคทาวเวอร์ จำกัด เสริมว่า เดิมมี 2 อาคาร แต่นางราศี บัวเลิศ อดีตนักธุรกิจชื่อดังได้ซื้อหุ้น อาคารสูง 68 ชั้น 1,700 หน่วย จำนวนนี้ด้านบนเป็นโรงแรม 500 ห้อง ซึ่ง ขณะนี้ติดอยู่ในสถาบันการเงิน และห้องชุดบางส่วน บริษัท ณุศาสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ NUSA ได้ซื้อไปขายต่อ ไม่ต่ำกว่า 1-200 หน่วย
สอดรับกับนายธำรง ปัญญาสกุลวงค์ ประธานกรรมการบริษัท นิรันดร์กรุ๊ปฯ และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทยกล่าวว่า สนับสนุนที่กทม.และกรมโยธาฯจะ ผ่อนผันในข้อกฎหมาย เชื่อว่ามีนักลงทุนหลายรายสนใจซื้อใบอนุญาต และอาคารร้างต่อทั้งจากเจ้าของเดิมและสถาบันการเงินในราคาถูกซึ่งที่ผ่านมา บริษัทแอลพีเอ็น ดิเวล็อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN เป็นต้น เคยซื้ออาคารร้างราคาถูกและ นำมาสร้างต่อซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ