รัฐบาลมีนโยบายให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง กลายเป็นที่มาของโครงการบ้านประชารัฐ โดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นสองสถาบันการเงินหลักในการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินแห่งละ 2 หมื่น ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 2 ปี โดยมีเงื่อนไขจะต้องเป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จากการสอบถามผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย พบว่ายอดขายในโครงการนี้ยังน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนสต็อกทั่วประเทศที่มีมากถึง 3.6 หมื่นยูนิต
นายเลอศักดิ์ จุลเทศ รองประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงยอดขายโครงการบ้านประชารัฐ ที่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือให้ผู้มี รายได้น้อยมีที่อยู่อาศัย โดยพบว่า ยอดขาย ตั้งแต่เปิดโครงการ ทำได้ไม่มากนักประมาณ 422 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีการยกเลิกไป 64 ล้านบาท ทำให้ยอดสุทธิที่ขายได้อยู่ที่ 357 ล้านบาท โดยโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 218-219 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการทำสัญญาและรอโอนกรรมสิทธิ์อีก 133 ล้านบาท เพราะลูกค้าติดปัญหายื่นกู้ ไม่ผ่านหลักเกณฑ์จำนวนมาก ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ
สำหรับโครงการที่บริษัทได้นำเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ เป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 19 โครงการ 4,539 ยูนิต มูลค่ารวม 4,771 ล้านบาท แบ่งเป็น ทาวน์เฮาส์ 408 ยูนิต มูลค่า 556 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 4,131 ยูนิต มูลค่า 4,215 ล้านบาท โดย ทาวน์เฮาส์ ราคาเริ่มต้น 1.25 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม ราคาเริ่มต้น 7.89 แสนบาท
บริษัทเตรียมจัดแคมเปญเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ โดยอิงกับเงื่อนไขของบ้านประชารัฐ ที่ผู้ประกอบการต้องออกค่าธรรมเนียมการโอน ค่าจดจำนอง และค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 1 ปีแรกให้กับลูกค้า พร้อมทั้งให้ส่วนลดเพิ่มอีก 2% ซึ่งบริษัทมีข้อเสนอเพิ่มเติม จากนี้ โดยอยู่ระหว่างการขออนุญาตเรื่องการจับรางวัลชิงโชค
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแคมเปญบ้านประชารัฐ ที่ร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่หลายบริษัท โดยเพิ่มส่วนลดพิเศษให้อีก เช่น กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ส่วนลดซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่ม 1.5% ของราคาบ้าน สำหรับผู้บริหารและ พนักงานทรู คาดแคมเปญนี้ช่วยให้ยอดขายไตรมาส 2 เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
แอลพีเอ็น แจงทำยอดได้แค่ 10%
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลจากการที่บริษัทเข้าร่วมโครงการบ้านประชารัฐ ทั้งสิ้น 13 โครงการ 3,000 ยูนิต มูลค่า 3,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 7 แสนบาท ประมาณ 1,100 ยูนิต พบว่า ยอดการขายจากโครงการ ดังกล่าว ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร โดย ทำยอดขายได้เพียง 10% หรือประมาณ 300 ล้านบาท จากยอดขายโครงการเข้าร่วม 3,000 ล้านบาท สาเหตุหลักก็มาจากลูกค้า ไม่ผ่านหลักเกณฑ์จึงไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารออมสิน และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยจำนวนยอดลูกค้ายื่นกู้แล้ว ไม่ผ่านถึง 30%
"จริงๆ แล้วโครงการบ้านประชารัฐ ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างมาก แต่ติดปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้กู้ รวมทั้งในช่วงแรกที่มีข่าวผู้มาลงทะเบียนจองสิทธิ์เต็มแล้ว ทำให้ลูกค้าชะลอการตัดสินใจ ตลาดก็ชะงักไปด้วย โครงการบ้านประชารัฐจะสำเร็จได้ หลักใหญ่เรื่องการพิจารณาสินเชื่อ ซึ่งคิดว่ารัฐน่าจะมีเครื่องมือทางการเงินเพิ่มเติมเพื่อมาสนับสนุนโครงการ ให้เดินหน้าต่อไปได้"
เสนาฯ ระบุกู้ผ่านแค่ 1 ใน 4
นาง สาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการบริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีลูกค้าแสดงความสนใจซื้อในโครงการบ้านประชารัฐอย่างมากแต่ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ เพราะคุณสมบัติไม่ผ่านการพิจารณาของสถาบันการเงิน เพราะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จึงมีฐานรายได้ไม่สูง และยังมีภาระหนี้สินร่วมด้วย จึงเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อ
โดย ส่วนของเสนาฯ มีลูกค้าที่ยื่นกู้เข้าโครงการบ้านประชารัฐ คิดเป็นยอดขาย 600-700 ล้านบาท แต่ลูกค้าที่ผ่านหลักเกณฑ์มีแค่ 1 ใน 4 หรือคิดยอดขาย 200-300 ล้านบาท เท่านั้น
"เห็นด้วยหากรัฐจะปรับเงื่อนไขให้สินเชื่อ รวมถึงปรับเงื่อนไขราคาบ้านให้สูงขึ้น จากไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เพื่อทำให้ฐานรายได้ของผู้ซื้อสูงขึ้น จะขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น อีกทั้งบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ปัจจุบันพัฒนายากเพราะที่ดินมีราคาสูง"
กู้ไม่ผ่านขาดหลักฐานการเงิน
ขณะ ที่นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ปัจจุบันแม้แต่โครงการบ้านทั่วไป ผู้ซื้อก็ยื่นขอสินเชื่อยากอยู่แล้ว เพราะสถาบันการเงินระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ จะเห็นได้จากยอดการปฏิเสธ สินเชื่อ(รีเจกต์ เรท) ยังสูง และยิ่งโครงการ บ้านประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ซื้อที่มีรายได้น้อย ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย รับจ้างทั่วไป จึงไม่มีหลักฐานการเงินชัดเจน ทำให้การยื่นกู้ขอสินเชื่อเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น
"ภาครัฐต้องกลับพิจารณา ว่าจะช่วยเรื่องสินเชื่อของผู้ซื้อบ้านอย่างไร ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว และคนซื้อบ้านก็ยังกู้ไม่ผ่านอีก ทั้งๆ ที่ความสนใจมีมาก การพัฒนาโครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินของกรมธนารักษ์ กำลังเปิดประมูลมีผู้จะยื่นประมูลเกือบ 20 ราย ส่วนการพัฒนาโครงการบ้านประชารัฐบน ที่ดินของผู้ประกอบการ ก็มีผู้ให้ความสนใจมากเช่นกัน เพียงแต่รอดูว่าทำโครงการขึ้น มาแล้ว มีความสนใจซื้อขนาดไหน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาการขอสินเชื่อ และมีปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงการขอสินเชื่อโครงการ เพราะปัจจุบันจะมีแค่บริษัทรายใหญ่และ รายกลางที่แข็งแรงเท่านั้น ที่แบงก์จะอนุมัติเงินกู้ให้ "
สต็อกทั่วประเทศ 3.6 หมื่นยูนิต
สำหรับโครงการที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็น สต็อกเหลือขายราคายูนิตไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ทั่วประเทศมีอยู่ 36,100 ยูนิต แบ่งเป็นคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 20,300 ยูนิต และอยู่ในภูมิภาค 6,500 ยูนิต ส่วนบ้านจัดสรร แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2,900 ยูนิต และในภูมิภาค 6,400 ยูนิต
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบจัดทำโครงการบ้านประชารัฐ เพื่อช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยมาก่อน ให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ดังนั้นจึงให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจหลักในการให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้สนับสนุนสินเชื่อ "โครงการบ้านประชารัฐ"
ปรากฏว่าหลังจากเริ่มดำเนินโครงการปล่อยกู้ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันปรากฏว่า มีลูกค้าโครงการบ้านประชารัฐผ่านเกณฑ์คิดเป็นมูลค่าเพียง 6,000 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้าโครงการส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์ ที่แบงก์รัฐกำหนด ส่งผลให้ล่าสุดแบงก์รัฐเตรียมหารือกับกระทรวงการคลังภายในเร็วๆ นี้ เพื่อปรับแก้เงื่อนไขคุณสมบัติของลูกค้า หลังพบเป็นอุปสรรคในการพิจารณาประกอบด้วย
การกู้เพื่อสร้างบ้านเกณฑ์เดิมกำหนดให้ต้องนำราคาก่อสร้างมารวมกับราคาที่ดินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และเจ้าของที่ดินต้องเป็นของ ผู้กู้เท่านั้น กำหนดราคาบ้านเข้าร่วมโครงการไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และกำหนดให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ต้องออกค่าโอน ลดค่าบ้าน รวมถึงยกเว้นค่าส่วนกลางเป็นเวลา 1 ปี คิดเป็น มูลค่าประมาณ 5% ของราคาบ้าน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ