ธอส.เล็งใช้ที่ดินรถไฟหลัง มธ.รังสิตทำ "บ้านประชารัฐ" นำร่องเอกชนแก้ลำ ดีเวลอปเปอร์มัวแต่ขอลดภาษี เตรียมสินเชื่อหนุนโครงการปีแรก 3 หมื่นล้านบาท ทั้ง "โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์-โพสต์ไฟแนนซ์" เอกชนยังยื้อถ้าลงทุนรัฐต้องชดเชยภาษี
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยประชาชาติธุรกิจว่า ในปี 2559 ธอส.จะเดินหน้า "โครงการบ้านประชารัฐ" ที่ธนาคารผลักดันร่วมกับการเคหะแห่งชาติ (กคช.) โดย ธอส.จะสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ดำเนินโครงการ (โปรเจ็กต์ไฟแนนซ์) และสินเชื่อสำหรับประชาชนผู้ซื้อที่อยู่อาศัย (โพสต์ไฟแนนซ์) ส่วนดีเวลอปเปอร์ที่จะเข้ามาพัฒนาโครงการบ้านประชารัฐ จะให้ทาง กคช.เป็นผู้บริหารจัดการเรื่องนี้ รวมถึงการว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง
"โครงการนี้ไม่สามารถจะขึ้นทีเดียว 2.7 ล้านยูนิตได้ทันที ต้องทยอยทำโดยอย่างต่ำที่สุดในระยะแรก เราอาจต้องใช้เงินในโครงการทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขอใช้ที่ดิน มีทั้งที่ดินของ กคช. ที่ดินราชพัสดุ และที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มาดำเนินการโครงการนี้ โดยจะนำร่องที่ดินของ ร.ฟ.ท. บริเวณหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ ร.ฟ.ท.ให้ที่ดินมา เรา จะเข้าไปเริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ คือเลือกที่ดิน ร่วมกับ กคช. พร้อมกันนั้นก็จะรับจดทะเบียนผู้ที่ประสงค์จะเข้ามาใช้สิทธิ์ไปด้วยเลย" นายสุรชัยกล่าว
นายสุรชัยกล่าวอีกว่า โครงการบ้านประชารัฐที่จะทำครั้งนี้ ราคาแต่ละยูนิตจะต้องไม่เกิน 600,000 บาท และต้องมีขนาดพื้นที่ของห้องไม่ต่ำกว่า 30 ตารางเมตรขึ้นไป และผ่อนชำระเดือนละกว่า 3,000 บาท
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามนโยบายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ มาทำโครงการนี้ในลักษณะเชิงสังคม (CSR) จึงให้ผู้ประกอบการเสนอมาเป็นรายโครงการ
ดังนั้น ธอส.จะทำร่วมกับ กคช.นี้จะเป็นโครงการนำร่องให้ผู้ประกอบการเห็นก่อน เพราะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์บางราย เสนอว่า หากกำหนดที่ยูนิตละ 600,000 บาท ขนาดพื้นที่ห้องเพียง 22 ตารางเมตรเท่านั้น
ขณะที่ในปี 2559 นั้น ประธานบอร์ด ธอส.กล่าวว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าขยาย สินเชื่อใหม่ในภาพรวมที่ราว 157,000 ล้านบาท หรือเติบโต 5%
ขอลดภาษีแลกขาย 6 แสน
เอกชนจี้รัฐแก้ปัญหาสินเชื่อ
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และกรมธนารักษ์ ผู้ประกอบการได้นำเสนอประเด็นสำคัญที่ต้องการให้รัฐแก้ไขก่อน คือ สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ไม่เกิน 2 หมื่นบาท/เดือน ที่จะเป็นผู้ซื้อในโครงการบ้านประชารัฐตามสิทธิเช่า 30 ปีนั้น
ขณะนี้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ให้กู้ในวงเงิน 70% ของราคาบ้าน และธนาคารพาณิชย์ให้กู้ 50% ของราคาบ้าน ทำให้ผู้ซื้อต้องผ่อนดาวน์อย่างน้อย 30% หากบ้านประชารัฐราคา 5 แสนบาท ผู้ซื้อจะต้องผ่อนดาวน์ประมาณ 1.5 แสนบาท เฉลี่ยเดือนละ 1 หมื่นกว่าบาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับผู้มีรายได้น้อย
ด้านราคาบ้านประชารัฐที่เป็นโครงการอาคารชุด รัฐต้องการให้พัฒนาในราคาไม่เกิน 5 แสนบาท/ยูนิต ซึ่งเอกชน มองว่าหากเป็นที่ดินของกรมธนารักษ์ให้เช่าในราคาถูก น่าจะพัฒนาได้ แต่ขนาดห้องชุด 30 ตร.ม.ที่รัฐต้องการ เป็นไปได้ยาก เพราะต้นทุนเฉพาะค่าก่อสร้างเฉลี่ยประมาณ 2.2 หมื่นบาท/ตร.ม. ห้องชุด 30 ตร.ม.จะมีต้นทุนก่อสร้าง 6.6 แสนบาท/ยูนิต ฝ่ายเอกชนบางรายจึงเสนอให้พัฒนาขนาด 22 ตร.ม.จึงจะเหมาะสม และหากเป็นที่ดินเอกชนสามารถโอนกรรมสิทธิ์ จะมีต้นทุนค่าที่ดินเพิ่มเข้ามา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะพัฒนาราคา 5 แสนบาท/ยูนิต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ