ขึ้นชื่อว่า "บ้าน" ทุกคนคงมองเห็นเป็นสถานที่พักผ่อน ปลอดภัย อุ่นใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่ภายในบ้านของตัวเอง และเชื่อว่าหลายๆคนกว่าจะได้บ้านมาเป็นของตัวเองสักหลังคงไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย ดังนั้นย่อมไม่มีใครอยากให้บ้านของตัวเองเกิดปัญหาใดๆขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาใหญ่อย่าง "บ้านทรุดตัว บ้านร้าว" ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนไฟลามทุ่งที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สำหรับใครที่ซื้อบ้านกับโครงการต่างๆก็ต้องเช็คและสอบถามดูให้ดีๆ จริงอยู่ที่โครงการต่างๆมักมีการรับประกันโครงสร้างบ้านให้ แต่ก็คงไม่มีใครอยากได้บ้านที่มีปัญหาถึงได้รับการแก้ไขก็อาจไม่อุ่นใจเหมือนเดิม ส่วนคนที่สร้างเองก็อย่ามองแต่เรื่องงบประมาณต่ำจนละเลยการป้องกันปัญหาเหล่านี้ไป
ปัญหาบ้านทรุด เกิดรอยร้าว เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่โดยส่วนมากปัจจัยหลักๆมักมาจากเสาเข็มและพื้นดินที่ใช้ในการสร้างบ้าน วันนี้บ้านคุ้มค่าได้รวบรวมสาเหตุที่ทำให้บ้านของท่านทรุด มาให้ผู้อ่านได้นำไปประกอบการตัดสินใจ และวางแผนในการซื้อบ้านหรือสร้างบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดบ้านทรุด
- เสาเข็มสั้นเกินไป อยู่ในชั้นดินอ่อนซึ่งรับแรงแบกทานได้น้อย ดินโดยรอบเสาเข็มอยู่ในสภาพที่ยุบตัวหรือเคลื่อนตัวได้ง่ายเมื่อมีแรงมากระทำ ดังนั้นเมื่อมีสน้ำหนักส่งผ่านจากเสาเข็มลงสู่ดินหรือระดับของน้ำใต้ดินลดต่ำลง ดินจะยุบตัวมากและเป็นผลให้เสาเข็มทรุดตัวตามไปด้วย
- เสาเข็มเกิดความบกพร่อง เสาเข็มแตกหักหรือขาดจากกันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บ้านมีปัญหาเรื่องการทรุดตัว ส่วนมากเสาเข็มจะแตกหักหรือเกิดความชำรุดบกพร่องใหนขณะที่ติดตั้งลงดิน เมื่อเสาเข็มชำรุดจะไม่สามารถส่งผ่านน้ำหนักลงไปยังดินแข็งที่อยู่ลึกลงไปได้ กรณีที่เป็นเสาเข็มคอนกรีตชนิดตอกมักพบปัญหาแตกร้าวหรือหักจากากรที่พยายามตอกเสาเข็มให้ผ่านชั้นดินที่มีค่า SPT (Standard Penetration Test) มากกว่า 30 ครั้ง/ฟุต และดินชั้นนี้มีความหนามากกว่า 5-6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางเสาเข็ม
- ฐานรากเยื้องศูนย์ (ศูนย์กลางของเสาเข็มไม่ตรงกับเสาบ้าน) กรณีเช่นนี้จะพบเห็นมากกับบ้านที่ใช้เสาเข็มเดี่ยว เมื่อเสาของบ้านไม่ตรงกับเสาเข็มจะทำให้ฐานรากพลิกตัว หากสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นกับฐานรากส่วนใหญ่บ้านทั้งหลังจะทรุดเอียง และการทรุดเอียงลักษณะเช่นนี้มักจะไม่ค่อยพบเห็นรอยแตกร้าวที่โครงสร้างส่วนบน แต่จะไปพบรอยแตกร้าวที่ฐานรากหรือเสาตอม่อด้านที่ถูกดึงขึ้นปรากฎเป็นรอยแตกร้าวแนวนอน
- ปลายเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิดกัน โดยทั่วไปที่มีการกำหนดให้เสาเข็มบ้านยาวเท่ากันทั้งหมดนั้นยังไม่ถูกต้องนัก เพราะการกำหนดเช่นนั้นหากระดับของชั้นดินไม่ได้อยู่ในแนวราบจะทำให้ปลายเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิดกันได้ ปลายเสาเข็มบางส่วนของบ้านอาจอยู่ในดินเหนียวแข็งหรือชั้นทรายแน่น แต่ปลายเสาเข็มอีกส่วนหนึ่งอาจอยู่ในดินอ่อน ทำให้ฐานรากของบ้านทรุดตัวแตกต่างกันได้
- เกิดการเคลื่อนตัวของดิน การเคลื่อนตัวของดินมักจะเกิดจากผลกระทบจากภายนอก เช่น มีการขุดดินบริเวณข้างเคียงทำให้ดินเคลื่อนตัวดันเสาเข็มของบ้านให้เคลื่อนจากตำแหน่งเดิม เป็นสาเหตุการทรุดตัวที่มักจะเกิดขึ้นภายหลังจากสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว
- เสาเข็มรับน้ำหนักไม่ได้ตามความต้องการ หากไม่มีการเจาะสำรวจสภาพชั้นดินแต่อาศัยข้อมูลจากการบอกเล่าว่าเคยตอกเสาเข็มยาวเท่านั้นเท่านี้เก็เพียงพอแล้ว หรือเชื่อมั่นข้อมูลจากบ้านข้างเคียงมากเกินไป อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เช่น ไม่ทราบมาก่อนว่าดินใหม่ยั้งอยู่ในสภาพไม่แน่นตัว นอกจากจะไม่ช่วยรับน้ำหนักแล้วยังเป็นน้ำหนักบรรทุกกดลงบนเสาเข็ม ด้วยเสาเข็มจึงรับน้ำหนักไม่ได้ตามที่คาดหมายไว้ดังนั้นถึงแม้จะใช้เสาเข็ม ชนิดเดียวกันและมีความยาวเท่ากับเสาเข็มของบ้านข้างเคียง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถรับน้ำหนักได้เท่ากับเสาเข็มของบ้านข้างเคียงเสมอไป
วิธีตรวจสอบและติดตามผลเบื้องต้นเมื่อพบรอยร้าว
ใช้ดินสอขีดเส้นตั้งฉากที่ปลายรอยร้าวทั้ง 2 ด้าน (รอยร้าวเดียวเส้นกันที่ยาวต่อเนื่อง) พร้อมลงวันที่ที่ขีดเส้นกำกับไว้ คอยสังเกตดูว่ารอยร้าวมีการเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ มากน้อยเพียงใด และร้าวไปในทิศทางใด จะได้ช่วยให้ช่างที่เข้ามาทำการแก้ไขปัญหาสามารถวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้สำหรับใครพบปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านของท่าน แล้วเกิดความกังวลใจอยากได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ ทางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดกิจกรรมคลินิกช่างให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาเรื่องบ้านทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน ตั้งแต่เวลา 13.00 - 17.00 น. ซึ่งเป็นบริการฟรี สามารถมาขอรับคำปรึกษาได้ที่อาคารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซอยรามคำแหง 39 แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2184-4600-9
เพราะเรารู้ว่า "บ้าน" เป็นสิ่งสำคัญ เลือกอสังหาฯ
เลือก..บ้านคุ้มค่า