คมนาคมเตรียมชงครม.ขออนุมัติ MOC ดึงญี่ปุ่นลงทุนระบบรางไทย

964 Views เผยแพร่ 12 พ.ค. 58
คมนาคมเตรียมชงครม.ขออนุมัติ MOC ดึงญี่ปุ่นลงทุนระบบรางไทย

"บิ๊กจิน" เตรียมเสนอ ครม. สัปดาห์หน้า อนุมัติกรอบความร่วมมือ หรือ MOC ก่อนบินไปลงนามการพัฒนาระบบรางไทย-ญี่ปุ่น ด้านคลังยืนยันโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ไม่มีปัญหาพร้อมหาเงินกู้สนับสนุน

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่าสัปดาห์หน้ากระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติกรอบความร่วมมือก่อนที่ผู้แทนกระทรวงคมนาคมจะ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อลงนามกรอบเงื่อนไขความร่วมมือ หรือเอ็มโอซีกับกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นเพื่อเดินหน้าการร่วมมือพัฒนาระบบรางในหลายเส้นทาง โดยคาดว่าจะลงนามระหว่าง 2 ประเทศ ในวันที่ 26 หรือ 27 พฤษภาคม 2558

ทั้งนี้ในการเจรจากับผู้แทนญี่ปุ่นช่วงที่ผ่านมาชัดเจนว่าญี่ปุ่นให้ความสนใจลงทุนหลายโครงการโดยเฉพาะ โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ความเร็วมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาแผนรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถของรถไฟเส้นทางดังกล่าวแล้ว ตั้งแต่ปี 2555

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการก่อสร้างครั้งนี้ตามกรอบความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น จะมีการทบทวนภาพรวมของแผนทั้งหมด รวมทั้งเร่งทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้เสร็จ โดยกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างต้นปี 2559 ส่วนรายละเอียดของวงเงินการลงทุนและที่มาของงบประมาณนั้น จะมีการศึกษาควบคู่พร้อมกัน เมื่อได้รายละเอียดเส้นทางแล้วจะทำให้ทราบวงเงินรายละเอียดของการลงทุน ส่วนที่มาของงบประมาณนั้น จะมาจากการร่วมทุนระหว่างไทยและญี่ปุ่น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อดำเนินการ

นอกจากนี้ทางญี่ปุ่นยังให้ความสนใจการลงทุนเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคของไทย โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟรางมาตรฐานอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว หรือเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ รวมทั้งแนวทางภาคตะวันออกของไทย ปัจจุบันแม้ไทยมีข้อตกลงกับจีนที่จะพัฒนารถไฟรางมาตรฐานเส้นทาง หนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาคตะวันออกไทยยังมีเส้นทางระบบรถไฟอีกหลายโครงการ ไม่ว่าแอร์พอร์ตลิงค์ หรือรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ในอนาคตญี่ปุ่นสามารถเข้ามาพัฒนาความร่วมมือในการลงทุนรถไฟแบบอื่นๆ ได้ ซึ่งจะมีการเจรจากรอบความร่วมมือต่อไป

ด้านนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยืนยันว่าไม่มีปัญหาในการกู้เงินเพื่อใช้ก่อสร้างโครงการ ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) 2 เส้นทาง วงเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้านบาท คือ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 8.46 หมื่นล้านบาท และสายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 5.56 หมื่นล้านบาท โดยมั่นใจว่าจะสามารถกู้ได้ และคาดว่ากระทรวงคมนาคมจะเสนอเข้าที่ประชุมครม.พิจารณาในวันที่ 12 พฤษภาคม 2558

ที่ผ่านมาคาดว่าการก่อสร้างจะใช้เป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่าง รัฐและเอกชน หรือพีพีพี แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากเอกชนคงไม่สามารถมีรายได้เพียงพอคุ้มกับเม็ดเงินลงทุน ดังนั้นก็จะต้องใช้วิธีการกู้เงินผ่านงบประมาณรายจ่ายปกติ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังยืนยันว่าหากโครงการมีความจำเป็น เหมาะสม กระทรวงการคลังก็จะเตรียมแหล่งเงินกู้ไว้ให้ได้อยู่แล้ว

โดยก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวที่ว่า รมว.คมนาคม ระบุว่าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ยังไม่ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เนื่องจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด เนื่องจากกระทรวงการคลังยังไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ให้ได้

ก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยังเตรียมจัดหาแหล่งเงินกู้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน วงเงิน 78,294 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 โครงการ ประกอบด้วย

  1. โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 37,602 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยการจัดทำระบบประปาหมู่บ้านและระบบชลประทาน เพื่อกักเก็บน้ำ และการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยโดยการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม พัฒนาระบบการระบายน้ำ ระบบผันน้ำ และระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการศึกษาสำรวจและออกแบบโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างใน ปีงบประมาณ 2559
  2. โครงการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 40,692 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงบูรณะทางหลวง การปรับปรุงทางจักรยาน การติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างและป้ายจำกัดความเร็ว แก้ไขจุดเสี่ยง การเพิ่มช่องจราจร การขยายเส้นทางการปรับปรุงถนนทางแยกและทางกลับรถ โดยคาดว่าจะทยอยเบิกจ่ายเงินได้ในปี 2558 จำนวน 32,954 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 39,756 ล้านบาท และในปี 2560 อีกจำนวน 5,583 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ครม. อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคมในกรอบวงเงินไม่เกิน 80,000 ล้านบาท และถ้าภาวะตลาดการเงินในประเทศเอื้ออำนวยและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบการเงิน การคลัง และตลาดทุน กระทรวงการคลังสามารถกู้เป็นเงินบาทแทนการกู้เงินตราต่างประเทศได้

 


ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

หมวดบทความ :

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ