เร่งไฮสปีด กรุงเทพฯ-ระยอง และ กรุงเทพฯ-หัวหิน ชงเปิด PPP เฟ้นมืออาชีพพัฒนาที่ดินร่วมลงทุน

1,884 Views เผยแพร่ 12 ต.ค. 59
เร่งไฮสปีด กรุงเทพฯ-ระยอง และ กรุงเทพฯ-หัวหิน ชงเปิด PPP เฟ้นมืออาชีพพัฒนาที่ดินร่วมลงทุน

คมนาคม เร่งสรุปรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-ระยอง และ กรุงเทพฯ-หัวหิน มูลค่ารวมกว่า 2.47 แสนล. คาดเสนอ สคร.ได้ใน ต.ค.นี้ เข้า PPP Fast Track ชง ครม. อนุมัติ ม.ค. 60 เดินหน้าเปิดประมูลเอกชนลงทุน 100% ยอมรับแนวกรุงเทพฯ-ระยองพื้นที่รถไฟมีน้อย เอกชนต้องเป็นนักพัฒนาที่ดินมืออาชีพ สร้างเมืองใหม่เพิ่มมูลค่าพื้นที่รอบสถานี

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 193.50 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 152,528 ล้านบาท และสายกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 165 กม.กรอบวงเงิน 94,673.16 ล้านบาท ซึ่งจะใช้รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) ในส่วนของรายละเอียดของการพัฒนาที่ดินรอบสถานีที่ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม และการต่อเชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภาของสายกรุงเทพ-ระยอง มายังกระทรวงคมนาคมแล้ว และทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างประมวลข้อมูล คาดว่าจะเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นชอบได้ภายในเดือนต.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอไปยัง สำนักคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และเสนอคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) พิจารณาในปลายเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ โครงการจะเข้า PPP Fast Track มีขั้นตอนพิจารณาใน 60 วัน ซึ่งจะทำให้สามารถนำเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ม.ค. 2560 จากนั้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เพื่อเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง นั้น มีผลตอบแทนทางการเงินไม่มาก แต่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเนื่องจากพื้นที่ภาคตะวันออกมีศักยภาพสูง และเป็นส่วน หนึ่งของแผนงานโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ที่รัฐบาลผลักดัน โดยจะใช้รูปแบบร่วมทุนกับเอกชน (PPP) โดยให้สิทธิเอกชนในการลงทุนก่อสร้างและบริหารเดินรถ ร่วมลงทุนแบบ PPP 100% คล้ายกับรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลืองและสายสีชมพู ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยได้รับสิทธิในการพัฒนาพื้นที่ในสถานี พื้นที่รอบสถานี รายใดที่เสนอขอรับการสนับสนุนจากรัฐน้อยที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก

ทั้งนี้ ตลอดแนวเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-ระยอง การรถไฟฯ มีพื้นที่ในแต่ละสถานีไม่มากนัก และแนวเส้นทางอยู่นอกเขตเมือง เนื่องจากเดิมเส้นทางรถไฟสายตะวันออกถูกเน้นไปในการขนส่งสินค้ามากกว่าโดยสาร ดังนั้น การพัฒนาเพื่อนำรายได้จากเชิงพาณิชย์มาอุดหนุนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอาจจะไม่คุ้มค่าและไม่จูงใจเอกชนมากนัก ซึ่งเอกชนที่จะเข้ามาร่วมลงทุน จะต้องมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาที่ดิน รวมถึงอาจจะต้องลงทุนจัดหาที่ดินเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นแปลงใหญ่สามารถพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้

โดยเส้นทางรถไฟช่วงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 194 กม. การรถไฟฯ มีพื้นที่สามารถพัฒนาได้ 6 สถานี คือ ลาดกระบัง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา ระยอง แบ่งเป็นพื้นที่พัฒนาภายในสถานีรวม 5,499 ตารางเมตร พื้นที่ย่านสถานี 162 ไร่ ประมาณการรายได้ 15,857 ล้านบาท

 

ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ