ไทยไม่รอผลสรุปร่วมทุนกับจีน นายกฯ เคาะลงทุนรถไฟความเร็วสูงเอง เปิดให้จีนดูแลเรื่องก่อสร้างและใช้เทคโนโลยี รวมทั้งตัวรถไฟ นำร่องเส้น กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการความร่วมมือพัฒนารถไฟไทย-จีน ว่า หลังจากการเจรจากรอบวงเงินการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนยังไม่มีข้อสรุป ไทยจึงตัดสินใจจะเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างเองทั้งหมด แต่จะให้จีนมาเป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง และใช้เทคโนโลยี รวมถึงตัวรถไฟจากจีน เนื่องจากเป็นข้อกำหนดในความร่วมมือในรูปแบบรัฐต่อรัฐ โดยจะก่อสร้างในเส้นทางที่ไทยมีความพร้อมก่อนคือ เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช ส่วนเส้นทางอื่นๆ ที่เหลือ ซึ่งการเปลี่ยนรายละเอียดในความร่วมมือลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง จะส่งผลให้การเริ่มต้นก่อสร้างโครงการอาจจะล่าช้าไป 4-5 เดือน จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือนพฤษภาคมนี้
สำหรับความคืบหน้าขณะนี้ได้ส่งผลศึกษาผล กระทบสิ่งแวดล้อมไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาในการเริ่มโครงการ ส่วนผลศึกษาด้านอื่นๆ เช่น ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจีนได้คำนวณต้นทุนในการก่อสร้างมาให้ ซึ่งพบว่ามีมูลค่าโครงการสูงถึง 1.9 แสนล้านบาท ในขณะที่ผลการศึกษาต้นทุนของไทยอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น จึงให้ทางจีนลดต้นทุนลงมาให้อยู่ในระดับต้นทุนที่ไทยคำนวณไว้ โดยใช้ราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศไทย และคิดราคาแบบมิตรภาพ เพราะเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ
ส่วนแหล่งที่มาของเงินทุนนั้น แม้ในกรอบความร่วมมือจะระบุเอาไว้ว่าจะให้ใช้แหล่งเงินทุนจากจีน แต่ไทยจะขอเป็นผู้พิจารณา และเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยจากแหล่งเงินทุนอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด และคุ้มทุนที่สุด อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนรายละเอียดการร่วมลงทุนดังกล่าว ไม่น่าจะกระทบกับสัญญาที่จีนจะรับซื้อสินค้าเกษตร ทั้งข้าว และยางพารา จากประเทศไทย
ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ตัดสินใจขับเคลื่อนโครงการนี้โดยไทยจะเป็นฝ่ายลงทุนงบประมาณ เองทั้งหมด และให้ฝ่ายจีนเป็นผู้ก่อสร้างเท่านั้น ซึ่ง รฟท.ขอยืนยันว่าขณะนี้ไทยมีศักยภาพในการลงทุนโครงการเอง เนื่องจากช่วงของการพัฒนาจะเร่งรัดจัดทำในเส้นทางกรุงเทพฯpนครราชสีมา ส่งผลให้วงเงินในการลงทุนจะไม่สูงมากหากเทียบกับการลงทุนทั้งโครงการ
"นโยบายของนายกรัฐมนตรีคือการมองถึงประโยชน์สูงสุด เพราะตอนนี้ไทยมีความจำเป็นที่จะต้องมีรถไฟความเร็วสูงซึ่งในส่วนของศักยภาพ ไทยก็มีความพร้อมแล้ว โดยก่อนหน้านี้ที่มองว่าจะต้องทำการร่วมทุนเพราะมูลค่าโครงการเยอะ แต่เมื่อวางแผนที่จะพัฒนาในส่วนแรกคือเร่งรัดทำเพียงกรุงเทพฯpแก่งคอย-นครราชสีมาก็จะพบว่าวงเงินเหลือไม่สูงนัก" นายวุฒิชาติกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก