ถึงจะเลื่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 ออกไป ด้วยเหตุผลสุดวิสัย แต่ล่าสุด "กทม.-กรุงเทพมหานคร" เดินหน้าผลักดันโปรเจ็กต์ "รถไฟฟ้าสายสีทอง" จัดเวทีซาวเสียงของประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2559 ที่ผ่านมา
เร่งเสนออีไอเอ-ครม.อนุมัติ
เพื่อเร่งกระบวนการจัดทำรายละเอียดโครงการให้แล้วเสร็จโดยเร็วในปีนี้จากนั้นนำโครงการเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาส่งต่อให้"คจร.-คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก" บรรจุโครงการเข้าไปในแผนแม่บทรถไฟฟ้ากรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงให้คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 4-6 เดือน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
สำหรับ "รถไฟฟ้าสายสีทอง" เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนจาก "ไอคอนสยาม" อภิมหาโปรเจ็กต์ของบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ร่วมกับบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เสนอไอเดียให้ "กทม." เจ้าของพื้นที่ให้ผลักดันโครงการ ทะลวงปัญหารถติดและรองรับกับการเปิดใช้ศูนย์การค้ายักษ์จะแล้วเสร็จเดือน ธ.ค.ปี 2560
โดยรูปแบบโครงการจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนาดรอง (ฟีดเดอร์) ก่อสร้างเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดเส้นทาง ส่วนรถไฟฟ้าจะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (AGT) ซึ่งสามารถขนส่งผู้โดยสารได้ 4,000-12,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง วิ่งด้วยความเร็ว 3 นาทีต่อขบวน
แนวเส้นทางเริ่มต้นจากรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีกรุงธนบุรี มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกตามแนวถนนธนบุรี จนถึงทางแยกถนนกรุงธนบุรีกับถนนเจริญนคร จากนั้นเลี้ยวเข้าถนนเจริญนคร มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือเข้าสู่ถนนสมเด็จพระยา สิ้นสุดโครงการที่วัดอนงคารามวรวิหาร รวมระยะทาง 2.7 กม. มีทั้งหมด 4 สถานี ใช้เงินลงทุนรวม 3,845.70 ล้านบาท
ลงทุน 3.8 พันล้าน แบ่ง 2 เฟส
"ทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์" ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กล่าวว่า จะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 มีระยะทาง 1.8 กม. จำนวน 3 สถานี คือ 1.สถานีกรุงธนบุรีต่อเชื่อมกับบีทีเอส 2.สถานีเจริญนคร ตั้งอยู่บริเวณสะพานข้ามคลองวัดทองเพลง และ 3.สถานีคลองสาน เยื้องกับโรงพยาบาลตากสิน มีทางเดินหรือ Sky Walk เดินทางเข้าสู่โรงพยาบาลตากสินได้โดยตรง และจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) จะแล้วเสร็จปี 2561 ใช้เงินลงทุน 2,512 ล้านบาท มีผู้ใช้บริการ 47,300 เที่ยวคนต่อวัน
ส่วนระยะที่ 2 ระยะทาง 0.9 กม. มี 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปก อยู่บริเวณซอยสมเด็จเจ้าพระยา 6 กับซอยสมเด็จเจ้าพระยา 8 อนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) จะแล้วเสร็จปี 2566 ใช้เงินลงทุน 1,333 ล้านบาท คาดมีผู้ใช้บริการ 81,800 เที่ยวคน/วัน
"ผลการศึกษาจะเสร็จเดือน มี.ค.นี้ ในผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุน โดยมีอัตราส่วนผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ หรือ EIRR 28.5% หากโครงการได้รับอนุมัติในปีนี้ ตั้งเป้าเริ่มสร้างปีหน้า ใช้เวลา 1 ปี เพราะโครงการไม่มีการเวนคืนที่ดินและเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล และระยะทางไม่ยาวมาก"
ไอคอนสยามสนลงทุนเฟส 1
ด้านรูปแบบการลงทุน "ผอ.ทวีศักดิ์" กล่าวย้ำว่า ให้เอกชนร่วมลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของรูปแบบการลงทุน อีก 2 เดือนจะได้ข้อสรุป รวมถึงการคิดค่าโดยสารจะเป็นแบบเหมาจ่าย หรือคิดตามระยะทาง ทั้งนี้เบื้องต้นกลุ่มบริษัทไอคอนสยามให้ความสนใจในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 จำนวน 3 สถานี ระยะทาง 1.8 กม.
ทั้งนี้เมื่อโครงการสร้างเสร็จ จะช่วยเรื่องการเดินทางของฝั่งธนบุรีให้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากจะเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ สายสีเขียว (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) สายสีแดง (หัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย) มีแผนเปิดบริการ 2566 และสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) มีแผนเปิดให้บริการ 2566 คาดว่าในปี 2579 จะมีผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบประมาณ 7,680,000 คนต่อวัน
ขณะที่ปัจจุบันเขตคลองสานมีปริมาณจราจรในพื้นที่ 220,000 คันต่อวัน มีผู้โดยสารทางเรือ 35,000 คนต่อวัน ผู้โดยสารทางรถไฟฟ้า 52,000 คนต่อวัน
เป็นความพร้อมของโครงการเวลานี้ ยังไม่รู้ว่าเจ้ากระทรวงคมนาคม "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" จะเปิดไฟเขียวให้โครงการมากน้อยแค่ไหน เพราะล่าสุดส่งซิกมากลาย ๆ ไม่ว่าโครงการนี้จะเป็นเงินลงทุนของเอกชน แต่ก็ต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าและคุ้มทุนให้ถึงที่สุด ถึงจะบรรจุในแผนแม่บทรถไฟฟ้าได้
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์