กรมธนารักษ์เล็งจัดระเบียบพื้นที่ ส่งคนลงสำรวจที่ราชพัสดุ คาด 12.5 ล้านแปลง คาดหากสำรวจเสร็จหนุนภาครัฐเก็บรายได้เพิ่มจากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำ กว่า 3-5 หมื่นล้านบาท เดินหน้าถกธุรกิจหลังพบบุกรุกที่ราชพัสดุอื้อ
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้สั่งการให้เร่งทำการสำรวจที่ดินทั่วประเทศเนื่องจากยังมีที่ดิน รอสำรวจเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ดินราชพัสดุที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และใน 40 จังหวัดสามารถสำรวจได้ครบแล้วทั้ง 100% ส่วนใน 30 จังหวัดที่เหลือคาดว่าจะสำรวจเสร็จภายใน 2-3 ปี
ทั้งนี้ การสำรวจจะสามารถกำหนดราคาซึ่งเป็นราคาตลาดของที่ดินในจังหวัดต่างๆ เพื่อประเมินราคาสำหรับที่ของเอกชนได้เช่นกัน อีกทั้งเมื่อสำรวจสำเร็จเชื่อว่าจะทำให้ภาครัฐสามารถเก็บรายได้จากราคา ที่ดินที่อิงกับราคาประเมินของที่ราชพัสดุได้เพิ่มมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 25% ในส่วนของค่าโอน ค่าธรรมเนียมต่างๆ เฉลี่ยจะมีรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-5 หมื่นล้านบาท
"ตอนนี้กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ลงพื้นที่แต่ละจังหวัด จังหวัดละ 8-10 คน เพื่อสำรวจที่ราชพัสดุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำรวจพื้นที่ตั้งแม่ถนน ที่ดิน รวมถึงมูลค่าเพื่อกำหนดเป็นฐานข้อมูลใหม่ โดยจะเป็นการเก็บข้อมูลแบบหมุดดิจิตอล เพราะตอนนี้เราสำรวจไปได้แล้วมากกว่า70% คงเหลือพื้นที่ที่รอสำรวจอีกประมาณ 4 ล้านแปลงจากทั้งสิ้น 12.5 ล้านแปลง ส่วนตัวจึงเชื่อว่าหากทำได้ครบทั้งหมดสามารถตรวจสอบข้อมูล ลดปัญหาการซ้ำซ้อนของที่ดินที่ในอดีตที่มีการออกโฉนดทับซ้อนกัน"
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคตกรมธนารักษ์มีแผนที่จะนำที่ดินที่เป็นของที่ราชพัสดุมาใช้ให้เกิดประโยชน์ สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น เช่น การให้เอกชนเช่าระยะยาว การใช้ประโยชน์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงการนำที่ทั้งจากหน่วยงานรัฐ เอกชน หรือจากที่ที่เคยจัดสรรให้แต่มีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ภาครัฐสูญเสียประโยชน์เชิงเศรษฐกิจก็จะนำกลับมาและพัฒนาเพื่อให้เกิดมูลค่า สร้างรายได้กลับคืนรัฐให้มากขึ้น
ขณะนี้กรมธนารักษ์อยู่ระหว่างจัดทำแผนการบริหารจัดการที่ราชพัสดุและการให้เช่าพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งน่าจะมีผลสรุปในอีก 4 เดือนข้างหน้า โดยที่ราชพัสดุที่ให้เช่าปัจจุบันนั้นจะมีการตรวจสอบว่าผู้เช่าใช้ประโยชน์ ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หรือสัญญาไหนให้เช่าในราคาที่คุ้มค่าหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อปรับปรุงสัญญาเช่าหรือต้องประมูลใหม่หรือไม่
ยกตัวอย่าง เช่น พื้นที่ในจังหวัดราชบุรีและสุราษฎร์ธานีมีการบุกรุก รวมถึงใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ บริเวณเกาะเต่า สุราษฎร์ธานี ก็จะเรียกผู้ประกอบการมาลงทะเบียนเพื่อจัดระเบียบชาวบ้าน ผู้ประกอบการรีสอร์ตที่บุกรุกที่ราชพัสดุ ให้มาลงทะเบียนเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุอย่างถูกต้อง แต่ขณะนี้กลับมีผู้ประกอบการมาลงทะเบียนเพียง 90 ราย จากทั้งหมด 120 ราย ส่วนผู้ประ กอบการที่บุกรุกที่ราชพัสดุ ที่คาดว่าจะมีอีกประมาณ 30-40 รายขอให้รีบมาขึ้นทะเบียนภายในสัปดาห์นี้ หรือสัปดาห์หน้าเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่มาลงทะเบียนตามกรอบเวลาที่กำหนดกรมธนารักษ์จะประสานไปยังฝ่ายปกครอง หน่วยงานส่วนท้องถิ่น อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ทำการรื้อถอนรีสอร์ตและโรงแรมที่บุกรุกที่ดินของกรม
ขณะเดียวกันยังมีพื้นที่เป้าหมายในหลายจังหวัดที่มีการบุกรุกที่ราชพัสดุ อาทิ จังหวัดนครราชสีมา กาญจนบุรี นครนายก ดังนั้นกระบวนการที่กรมต้องเร่งทำคือ การทำความเข้าใจกับธุรกิจที่บุกรุกกลับเข้าสู่ระบบ โดยการให้เข้ามาลงทะเบียนและเสียค่าเช่าที่ดินให้แก่กรมธนารักษ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยในระยะแรกกรมธนารักษ์จะคิดค่าเช่าต่อปี อยู่ที่ไร่ละ 1-1.5 พันบาทและจะปรับเพิ่มขึ้นทุกๆ 5 ปี โดยมีระยะเวลาเช่า 30 ปี โดยกำหนดว่าอัตราค่าเช่าที่ดินจะต้องสะท้อนกับราคาตลาดที่แท้จริง
อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์มีแผนจะประกาศราคาที่ดินใหม่ทั่วประเทศปลายปีนี้เพื่อใช้เป็นฐาน ในการคำนวณการทำนิติกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์นับแต่ปี 2559-2562 ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น พบราคาที่ดินใหม่จะมีราคาเพิ่มเฉลี่ย 25% โดยราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นสูงมากส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณแนวรถไฟฟ้าและเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ด้านความคืบหน้าของที่ดินมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คาดว่าจะมีความ ชัดเจนในอีก 4 เดือนข้างหน้า ขณะเดียวกันจะประสานรฟท.ส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์เร็วขึ้น เช่น เฟสแรก 140 ไร่ให้เป็นภายใน 1 ปีจากเดิมกำหนดไว้ 2 ปี เพื่อให้สามารถเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาลงทุนเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น และเฟส 2 จะเหลือระยะเวลา 2-3 ปีจากเดิม 5 ปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ