องค์ประกอบในการออกแบบที่ไม่ควรมองข้าม
ติดตั้งอุปกรณ์จำเป็น
ติดราวจับและมือจับในส่วนต่างๆ เพื่อให้ระหว่างการใช้งานผู้สูงอายุสามารถเคลื่อนที่ได้สะดวกและปลอดภัย รวมถึงฝักบัวอาบน้ำ ควรเลือกเป็นแบบที่ปรับระดับได้ตามความสูงของผู้ใช้งานและมีระบบควบคุมความร้อนของน้ำให้อยู่ในองศาที่พอเหมาะ และไม่ลืมที่จะปูพรมกันลื่นในส่วนอาบน้ำและอ่างอาบน้ำ
ขนาดของชักโครกที่เหมาะสม
เลือกใช้ชักโครกขนาด 16-18 นิ้ว เพื่อความสะดวกของผู้ใช้ ด้วยความกว้างที่พอเหมาะกับการนั่งและรองรับน้ำหนัก และสะดวกในการลุกนั่งอีกด้วย
เลือกกระเบื้องให้ปลอดภัย
ผิวสัมผัสของกระเบื้องเป็นอีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึง ควรเลือกใช้กระเบื้องชนิดไม่ลื่น เป็น กระเบื้องแกรนิตหรือกระเบื้องเกรซพอร์ซเลน มีผิวหยาบ หรือผิวขรุขระ สังเกตจากค่าความฝืดของกระเบื้อง (ค่าR) มีระบุในแคตตาล็อคหรือสอบถามกับพนักงาน ควรเลือกค่า R10 สำหรับบริเวณที่ต้องเปียกน้ำ และควรใช้กระเบื้องแผ่นเล็กมากกว่าแผ่นใหญ่ เพราะร่องยาแนวของกระเบื้องแผ่นเล็กจะมีแรงเสียดทานในการสัมผัสและปลอดภัยมากขึ้น แยกสีกระเบื้องในส่วนเปียกและแห้งให้สังเกตได้ง่ายและชัดเจน
ประตูเปิด-ปิดง่ายในยามฉุกเฉิน
ประตูห้องน้ำควรเลือกใช้เป็นแบบบานเลื่อน มีขนาดกว้าง 36 นิ้ว ให้ผู้ใช้ wheelchairs สามารถนำรถเข้าไปได้อย่างสะดวก ใช้ที่ล็อคแบบที่เปิดง่ายและเก็บกุญแจไว้ใกล้ๆ ห้องน้ำเผื่อในยามฉุกเฉิน หรือผู้ใช้ต้องการความช่วยเหลือกระทันหัน หรือติดตั้งสวิตซ์ฉุกเฉิน ไว้ใกล้ๆกับบริเวณชักโครกและอ่างอาบน้ำ โดยให้เอื้อมได้จากระยะ 25 ซม.และ 95 ซม. จากระดับพื้น
ปลั๊กไฟและระบบเตือนภัย
น้ำกับไฟไม่ใช่ของคู่กัน เพื่อความปลอดภัยปลั๊กไฟที่อยู่ในห้องน้ำควรมีฝาปิด หรือติดตั้งให้ใกล้จากส่วนเปียก รวมถึงควรมีระบบกริ่งหรือโทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในยามฉุกเฉินติดไว้ด้วย
อุปกรณ์เสริมเพื่อการใช้งานที่สะดวกขึ้น
ราวจับช่วยพยุงในการลุก-นั่ง (Support Arm) ควรมีรูปร่างโค้งมน มีด้านจับขนาดใหญ่ เพื่อให้ยึดจับได้สะดวก ใช้ติดในจุดที่ต้องมีการลุก-นั่ง เช่น บริเวณชักโครก ส่วนอาบน้ำ
มือจับสำหรับการยึดเกาะให้มั่นคง (Hand Rails) ในลักษณะของมือจับ จะมีขนาดสั้นกว่าราวจับ ใช้ในจุดที่ต้องใช้การประคองหรือจับเพื่อให้ยืนได้มั่นคง
เก้าอี้นั่งอาบน้ำ (Shower Seat) อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้สูงอายุ ควรเลือกที่นั่งเหมาะกับสรีระ ไม่ลื่น ทำจากวัสดุที่อ่อนนุ่ม รับน้ำหนักได้มาก ปรับระดับความสูงตามความสูงของผู้ใช้ได้
พื้นห้องอาบน้ำ (Floor Drain) ออกแบบพื้นห้องน้ำให้มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเอียง (Barrier-free) ไม่มีขั้น (Step) ป้องกันการสะดุด ระดับของพื้นห้องน้ำและพื้นห้องด้านนอกควรอยู่ในระดับเดียวกันหรือใช้ทำเป็นทางลาดเอียงช่วยสำหรับผู้ใช้ wheelchairs
ก๊อกน้ำ (Faucet) ควรใช้ก๊อกแบบอัตโนมัติ ที่มีเซ็นต์เซอร์จับระยะ เพราะมีระบบเปิดปิดน้ำอัตโนมัติ ใช้งานได้ประมาณ 40-60 วินาทีต่อครั้ง ช่วยประหยัดน้ำ หรือเลือกใช้ก๊อกน้ำแบบก้านปัดหรือก้านโยก ผู้ใช้ไม่ต้องออกแรงมาก เปิดปิดน้ำได้รวดเร็ว ควรเลือกก๊อกรุ่นที่มีก้านยาวพิเศษ ให้ผู้ใช้ไม่ต้องเอื้อม
ฝักบัว (Thermostatic Lever Handle Exposed Bath Mixer) ฝักบัวและก๊อกแบบก้านโยกที่มีความยาวพิเศษ เพื่อลดการออกแรงช่วยให้สะดวกในการอาบน้ำ แต่ต้องเลือกที่มีระบบปุ่มนิรภัย (Safety) ที่จะควบคุมความร้อนให้ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส ป้องกันอันตรายจากน้ำร้อนลวก
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก HomePro