นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังยังคงเดินหน้าจัดทำร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะออกกฎหมายให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้มีผลการจัดเก็บภาษีได้ในรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการจัดเก็บจริงหลังกฎหมายมีผล บังคับใช้แล้ว 2 ปี
สำหรับการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่มีปัญหาเก็บได้น้อยหรือ เก็บได้ยากเหมือนกับเก็บภาษีการรับมรดก เนื่องจากกฎหมายมีความชัดเจนว่ารายได้จากการเก็บภาษีที่ดิน บ้านที่อยู่อาศัย และอาคารพาณิชย์ จะนำเข้าสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยตรงส่วนภาษีการรับมรดกจะได้เงินไม่มาก จากที่คาดว่าจะเก็บได้ปีละ 5,000-6,000 ล้านบาท เนื่องจากมีช่องโหว่มากไม่สามารถปิดช่องได้หมด จะให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้าไปตรวจก็จะเกินกำลังและเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลตั้งใจจะออกกฎหมายนี้มาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
"การเก็บภาษีจากผู้รับมรดกถือเป็นเรื่องที่ทำให้คนมีเงินคิดถึงประเทศมากขึ้น ให้คิดถึงคนที่ไม่มีเงินใช้ไม่มีเงินรักษาตัว แต่ว่าคนรวยคนไหนจะซุกก็ซุกไป ไม่กลัวขายหน้าก็ซุกไป ซึ่งคงมีคนรวยซุกอยู่แล้ว รัฐบาลคงไม่ทำถึงขนาดส่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเข้าไปตรวจในบ้านว่ามีการซุก สมบัติไว้และไม่มายอมเสียภาษีผู้รับมรดก" นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย กล่าวว่า พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ทั้ง 3 วาระเรียบร้อย หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายกำหนดว่าให้เริ่มเก็บภาษีจากผู้รับมรดกหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ 6 เดือน โดยเว้นเก็บทรัพย์สินมรดกในส่วนที่ไม่เกิน 100 ล้านบาทแรก หากผู้รับมรดกเป็นทายาทผู้สืบสันดานเสียภาษี 5% หากไม่ใช้ผู้สืบสันดานจะเสียภาษี 10% ส่วนภาษีการให้มรดกจะกระทำโดยโอนให้ไม่เกิน 20 ล้านบาทเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่ได้
อย่างไรก็ตามการพิจารณาอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปัจจุบันมีการลดอัตราจาก 10% เหลือ 7% ที่จะมีผลถึงวันที่ 30 กันยายน 2558 นี้ รวมถึงมาตรการภาษีลดหย่อนจากการซื้อหน่วยลงทุนกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ยังไม่ได้ข้อสรุปในขณะนี้