ไฟเขียว กม.ภาษีที่ดิน บังคับปี 60 รีดเข้ารัฐ 6.4 หมื่นล้าน คนมีบ้านเกิน 50 ล้านจ่ายอ่วม มีหลังที่ 2 เก็บ 0.03%

1,127 Views เผยแพร่ 8 มิ.ย. 59
ไฟเขียว กม.ภาษีที่ดิน บังคับปี 60 รีดเข้ารัฐ 6.4 หมื่นล้าน คนมีบ้านเกิน 50 ล้านจ่ายอ่วม มีหลังที่ 2 เก็บ 0.03%

ครม.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีบ้านและที่ดินมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท เร่งมีผลบังคับใช้ปี 60 รีดรายได้เข้ารัฐกว่า 6.4 หมื่นล้านบาท เชื่อคนมีรายได้น้อยปานกลางไม่ส่งผลกระทบ พร้อมออกกฎกระทรวงตามมาบังคับให้ประเมินราคาถูกต้อง สศค.เฮผลักดันกฎหมายมา 20 ปีเพิ่งสำเร็จ เอกชนระบุช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้บางส่วน แต่มีผลกระทบทางจิตวิทยาทันที หนุนเก็บภาษีรกร้างว่างเปล่า ไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยยกเลิกกฎหมายเดิม 2 ฉบับ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และนำกฎหมายฉบับใหม่มาใช้เป็นกฎหมายหลักในการจัดเก็บภาษีตามมูลค่าทรัพย์สิน ของผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อยและมีรายได้ปานกลาง โดยกระทรวงการคลัง จะผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป และคาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้จากการเก็บภาษีได้ 64,290 ล้านบาทในปีแรก มากกว่าการจัดเก็บภาษีเดิมทั้ง 2 ฉบับ จัดเก็บได้เพียง 38,318 ล้านบาท

สำหรับอัตราภาษีใช้จัดเก็บจริง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

  1. ประเภทเกษตรกรรม มีอัตราเพดาน 0.2 เปอร์เซ็นต์ จัดเก็บภาษีตามมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น ขณะที่ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05 เปอร์เซ็นต์ของฐานภาษี และ 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์
  2. ประเภทที่พักอาศัยหลัก อัตราเพดานสูงสุด 0.5 เปอร์เซ็นต์ โดยบ้านหลังแรกมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้น แต่ตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.05 เปอร์เซ็นต์ และ 100 ล้านบาทขึ้นไปจัดเก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบ้านหลังที่ 2 จะจัดเก็บตั้งแต่ 0.03 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่บาทแรก ก่อนปรับเป็นระดับตามมูลค่าจนถึง 0.30 เปอร์เซ็นต์
  3. ประเภทพาณิชยกรรม อัตราเพดาน 2 เปอร์เซ็นต์ จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ตั้งแต่บาทแรกถึง 20 ล้านบาท จัดเก็บ 0.3 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึง 1.5 เปอร์เซ็นต์
  4. ประเภทสุดท้ายที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดิน มีอัตราเพดานสูงสุด 5 เปอร์เซ็นต์ โดยจะจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ปีที่ 1-3 จัดเก็บ 1 เปอร์เซ็นต์ ปีที่ 4-6 จัดเก็บ 2 เปอร์เซ็นต์ และปีที่ 7 เป็นต้นไปจัดเก็บ 3 เปอร์เซ็นต์

หลังจากกฎหมายออกมาแล้ว จะมีกฎกระทรวงออกมากำหนดวิธีการประเมิน และแตกต่างจากเดิม จะประเมินตามดุลพินิจ และกำหนดวิธีการอย่างชัดเจน คือ ที่ดินจะประเมินจากกรมธนารักษ์ ส่วนสิ่งปลูกสร้างกำหนดหลักๆ ไว้  7 ประเภท จากนั้นประเมินมูลค่าเป็นตารางเมตร ว่าจะต้องเสียเท่าไหร่ แต่หากเป็นสิ่งปลูกสร้างในลักษณะพิเศษต้องใช้บริษัทประเมินภายนอกมาดำเนิน การประเมิน และเมื่อจัดเก็บภาษีแล้วจะนำเงินที่ได้ให้กับท้องถิ่นไปพัฒนาพื้นที่ต่อไป

ส่วนกรณีบ้านเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น แต่ชั้นล่างประกอบกิจการค้าขาย ชั้นที่ 2-4 เป็นที่พักอาศัย หากมีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ในชั้นล่างประกอบกิจการ จะต้องเสียภาษีในประเภทพาณิชยกรรม จัดเก็บตามมูลค่าทรัพย์สิน ส่วนการคิดภาษีจากคนที่เสียนั้น ดูจากกรรมสิทธิ์ของผู้ครอบครองเป็นหลัก ทั้งที่เป็นบ้านหลังแรก หรือหลังที่สอง หรือเป็นเจ้าของที่ดินแปลงใด ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าหรือไม่ แต่การจัดเก็บภาษีไม่มีผลกระทบกับเกษตรกรมีรายได้น้อย เพราะที่ดินกว่า 99.99 เปอร์เซ็นต์ ของที่ดินเกษตรทั่วประเทศ มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท ขณะที่เจ้าของที่พักอาศัยส่วนใหญ่กว่า 99.96 เปอร์เซ็นต์ มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนผู้มีที่พักมูลค่าเกิน 50 ล้านบาทมีอยู่เพียง 8,556 หลังเท่านั้น และส่วนมากอยู่ในเมืองใหญ่

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะบรรเทาภาระให้กับเจ้าของบ้านพักอาศัยหลักที่ได้มาจากการรับมรดก ผู้ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินที่มีอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ และกิจการสาธารณะ โดยกรณีที่เจ้าของบ้านพักอาศัยหลักได้รับกรรมสิทธิ์บ้านหลังดังกล่าวมาจาก การรับมรดกก่อนกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะได้รับการลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 50 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย พร้อมให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีเป็นเวลา 1 ปี ให้กับที่ดินที่อยู่ระหว่างการปลูกสร้างบ้านที่เจ้าของใช้เป็นบ้านของตนเอง

นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า ขณะเดียวกันยังให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05 เปอร์เซ็นต์ของฐานภาษี สำหรับที่ดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนา เพื่อจัดทำเป็นโครงการที่พักอาศัย เพื่อขายที่นิติบุคคลที่ประกอบกิจการอสังหาริมทรัพย์เป็นเจ้าของ เป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เจ้าของที่ดินได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน และให้จัดเก็บภาษีในอัตรา 0.05 เปอร์เซ็นต์ของฐานภาษี สำหรับอสังหาริมทรัพย์รอการขายที่ได้มาจากการชำระหนี้ของสถาบันการเงิน เป็นระยะเวลา 5 ปี พร้อมทั้งให้ลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่เกิน 75 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย สำหรับกิจการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียน เป็นต้น

"นอกจากนี้กฎหมายยังให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นสามารถขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด หรือรมว.มหาดไทยเพื่อลดหรือยกเว้นภาษีให้กับเจ้าของอาคารบ้านเรือนที่ได้รับ ความเดือดร้อนได้ เช่น เกิดภัยพิบัติ หรืออาคาร บ้านเรือนเกิดเสียหายหรือถูกทำลายด้วย" นายอภิศักดิ์ กล่าว

 

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผอ. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ที่ผ่านมากฎหมายฉบับนี้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่เปลี่ยนรัฐบาล โดยกระทรวงการคลัง พยายามทำเรื่องนี้มากว่า 20 ปี และพอถึงจุดสำเร็จมักเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้เรื่องนี้ค้างอยู่ไม่สำเร็จ แต่มาถึงตอนนี้เป็นโอกาสดีที่กฎหมายได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

ขณะที่ นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการผู้จัดการ บริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้บางส่วน แต่รัฐบาลต้องระวังผลกระทบเกิดขึ้นกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยในส่วนของความต้องการซื้อนั้น อาจได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาทันที โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน และกลุ่มผู้ซื้อบ้านมือสอง ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามการคมนาคม กลุ่มมีบ้านอยู่ตามชานเมือง หันมาซื้อคอนโดมิเนียมในแนวรถไฟฟ้าหรืออยู่กลางเมือง มีสัดส่วนกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์และต้องมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นในระยะยาว และหากขึ้นภาษีโดยเฉพาะบ้านหลังที่สอง จะทำให้กลุ่มเหล่านี้มีภาระทันที

ด้าน นายอิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า กรณีบ้านหลังที่สองนั้น มองว่าจะได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ตลาดบ้านหลังที่สอง จะปรับตัวไป และอาจทำให้ผู้กำลังมองหาบ้านมือสอง ต้องคิดให้ดีว่าจะซื้อเพื่อทำอะไร อย่างไรก็ดี โดยส่วนตัวเห็นด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการต้องยอมรับว่า การซื้อที่ดินมาเก็บไว้ เพื่อเป็นแลนด์แบงก์นั้นต้องยอมเสียภาษี จึงเห็นชอบด้วยเหตุผลและหลักการ แต่สำหรับที่รกร้างว่างเปล่า ไม่สร้างประโยชน์ ควรเก็บภาษี เพราะจะเป็นแรงกดดันให้นำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จึงขอแนะนำสำหรับผู้มีที่ดิน และปล่อยรกร้าง ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ