นักวิชาการแนะรัฐเดินหน้า "ภาษีที่ดินฯ และภาษีมรดก" เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แนะออกมาตรการภาษีบวกแพกเกจหวังสร้างแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ชี้หากรัฐชะลอจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ฉุดการปฏิรูปการคลังล่าช้า ส่งผลรัฐก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิปดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการปฏิรูปภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ว่า รัฐบาลควรใช้โอกาสขณะนี้ดำเนินการผลักดันการปฏิรูปภาษีทั้งระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับยุทธวิธีในการดำเนินการควรจะเสนอเป็นมาตรการรวมทั้งแพกเกจ เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม เก็บภาษีเพิ่มเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปฏิรูปด้วยการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ลดภาษีด้วยการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน กระตุ้นให้เกิดการทำงาน การลงทุน และการขยายกิจการเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ประโยชน์ของยุทธศาสตร์ของการปฏิรูปภาษี คือ การสร้างความเป็นธรรม เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน การสร้างฐานรายได้ที่ยั่งยืนระยะยาว และมากพอที่จะนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ ในการบริการประชาชน รวมทั้งการลงทุนทางด้านการศึกษา สาธารณสุข และระบบสวัสดิการต่างๆ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า การชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อาจทำให้การปฏิรูปการคลังล่าช้าออกไปทั้งระบบ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องก่อหนี้สาธารณะเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้จ่าย อย่างไรก็ดี การเดินหน้าดำเนินการพร้อมกับการประชาสัมพันธ์น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จได้ ในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน รวมทั้งจะเป็นผลงานสำคัญในเรื่องการปฏิรูปเศรษฐกิจ
การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินในสังคมไทยถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่ใน ระดับรุนแรงมากๆ เนื่องจากกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด 20% ล่างสุด มากถึง 325 เท่า ซึ่งกลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด 20% แรกนี้ยังถือครองที่ดินคิดเป็น 80% กว่า และคนที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศนี้ 10% แรก ถือครองที่ดินเกือบ 90% ของทั้งประเทศ
ผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินยังพบว่า มีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค หรือกระจายการถือครองที่ดินสูงถึง 0.89 ซึ่งการที่ค่า Gini Coeficient มีค่าสูงเกือล 0.9 สะท้อนถึงความไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจที่รุนแรง
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ระบบภาษีของไทยนั้นเป็นภาระต่อผู้มีรายได้น้อยมากกว่าผู้มีรายได้สูง เนื่องจากรัฐบาลไทยพึ่งภาษีทางอ้อมเป็นหลัก การใช้จ่ายของภาครัฐหลายส่วนก็เอื้อต่อคนรวยมากกว่าคนจน และก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองใหญ่ กับชนบท เช่น การก่อสร้างถนนและขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การเน้นก่อสร้างถนนมากกว่าระบบขนส่งมวลชน การอุดหนุนการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากกว่าระดับพื้นฐานเป็นต้น
"หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ก็ยากที่จะทำให้ระบบการเมืองไทยมีเสถียรภาพ และประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งอย่างแท้จริง" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/58 นี้จะขยายตัวได้ประมาณ 6-6.7% กระเตื้องขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/57 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก และยังเชื่อว่า GDP จะเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้คือ 2.7-3% และปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปีมาอยู่ที่ 3-3.9% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 4% ที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557
ที่มา : ผู้จัดการ Online