BTS ตั้ง งบ 1 แสนล้าน เดินหน้าลงทุน-บริหารรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ลุ้นงบปี 59 (เม.ย. 58-มี.ค. 59) คาดรายได้เดินรถโต 9% ตามยอดผู้โดยสารขยายตัว 7% ขณะที่เหลือ 2 วันสุดท้ายซื้อหุ้นได้รับปันผล 34 สตางค์ ก่อนขึ้น XD 21 ม.ค.นี้
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยว่า ในปี 2559 บริษัทเตรียมพร้อมการลงทุนและบริหารการเดินรถของโครงการรถไฟฟ้า 5 เส้นทาง ซึ่งแม้บางเส้นทางจะล่าช้าไปบ้างแต่ทางภาครัฐได้เร่งเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้า โดยเฉพาะสายสีชมพู และสายสีเหลือง ที่นำเข้าเป็นโครงการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP ซึ่งเร่งระยะเวลาการดำเนินการเพียง 9 เดือน
โดยคาดว่าทั้ง 2 โครงการน่าจะออกประกาศเชิญชวนประมูลพร้อมกัน โดยเปิดขายซองประมูลประมาณเดือน มี.ค. 2559 และยื่นซองประมูลในเดือนก.ค. 2559 ซึ่ง BTS มี ความพร้อมเข้าประมูลทั้ง 2 โครงการ และอยู่ในระหว่างศึกษาโครงการ โดยเบื้องต้นจะเข้าประมูลด้วยตัวเองก่อน และอาจเปิดทางพันธมิตรที่มีความรู้ความชำนาญด้านรถไฟฟ้าเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมา BTS มีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มทุนจีน
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. มีมูลค่าโครงการ 56,725 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนแบบเทิร์นคีย์ ทั้งลงทุนก่อสร้าง และบริหารการเดินรถให้สัมปทานเดินรถระยะเวลา 30 ปี ใช้รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มูลค่าโครงการ 54,768.45 ล้านบาท เป็นรูปแบบเทิร์นคีย์ ให้เอกชนลงทุนงานก่อสร้างและการบริหารการเดินรถ ภายใต้สัมปทานเดินรถระยะเวลา 30 ปี
นอกจากนี้ ยังมีงานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย คาดว่าบริษัทจะได้รับงานการบริหารงานเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้ง 2 ด้าน ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. ซึ่งงานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 70% และทาง กทม.กำหนดจะเปิดให้บริการสถานีแรก คือ สถานีสำโรงในเดือน ธ.ค. 2559
โดยประเมินทางกทม. จะจ้างบริหารการเดินรถภายในกลางปี 2559 เพื่อนำระบบติดตั้งได้ทันกำหนด พร้อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. ซึ่งแม้ขณะนี้งานก่อสร้างยังคืบหน้าไม่มาก แต่การจ้างงานในคราวเดียวกันจะทำให้สามารถสั่งซื้อรถไฟฟ้าได้และประหยัดกว่า
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า หากได้รับงานเดินรถบริษัทน่าจะสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 36 ขบวน ซึ่งมีขบวนละ 4 ตู้ วงเงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับสายสีเขียวหนือ 15 ขบวน และสายสีเขียวใต้ 21 ขบวน คาดจะใช้ระยะเวลา 2 ปีในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถ ซึ่งเส้นสีเขียวเหนือเปิดให้บริการเต็มในปี 2561 และปี 2562 เปิดให้บริการเส้นสีเขียวใต้
นอกจากนี้ อยู่ในระหว่างการส่งมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายทั้งสองด้านจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาให้กับ กทม.และคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) อยู่ระหว่างพิจารณา คาดจะนำเสนอต่อครม.ได้ในเดือนม.ค.นี้
ส่วนรถไฟฟ้าเส้นที่ 5 ประเมินว่า ในปี 2559 จะเปิดประมูล คือ เส้นทางรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT) เส้นทางบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม. มูลค่าโครงการประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กทม.เป็นเจ้าของโครงการ โดยขั้นตอนขณะนี้ได้ส่งเรื่องเข้า คจร.แล้ว เพื่อให้บรรจุไว้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region: M-MAP) จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ กำหนดเปิดใช้บริการกลางปี 2562
อีกทั้ง บริษัทได้เตรียมเงินทุนสำหรับรองรับการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าไว้แล้ว โดยปัจจุบันบริษัทมีเงินสดอยู่ 2 หมื่นล้านบาท และยังมีเงินจากการแปลงสิทธิจากใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท (วอร์แรนต์) อีก 4.8 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังสามารถหาเงินกู้สถาบันได้กว่า 1 แสนล้านบาท หรือ ใช้เงินกู้ไม่เกิน 3 เท่าจากทุนที่มีอยู่ 1 เท่า
ทั้งนี้ จากการสำรวจโครงการลงทุนของ BTS พบว่า ทาง BTS มีแผนใช้เงินลงทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มูลค่า 5.4 หมื่นล้านบาท และการลงทุนซื้อรถไฟฟ้าเพื่อรองรับสีเขียวหนือและสายสีเขียวใต้ อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น
นายสุรพงษ์ ประเมินว่า แนวโน้มธุรกิจปี 2559 (เม.ย. 58-มี.ค. 59) รายได้จากการเดินรถจะเติบโตขึ้น 9% ซึ่งมากกว่าเป้าหมายที่คาดจะโต 6-8% โดยในงวด 9 เดือนแรกรายได้เติบโต 9% เป็นจำนวน 5,874 ล้านบาท เป็นการเติบโตตามจำนวนผู้โดยสารที่ 7% สูงกว่าเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 4-6%
โดยคาดทั้งปีจำนวนผู้โดยสารจะขยายตัว 7% เพราะปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 6.7-6.8 แสนเที่ยวคน/วัน หากเป็นวันธรรมดาจะมีผู้โดยสาร 7 แสนเที่ยวคน/วัน ซึ่งเดือน พ.ย.ที่ผ่านมามียอดผู้โดยสารสูงสุด และมียอดตั๋วเฉลี่ยต่อคนในงวดปี 2559 ใกล้เคียงงวดปี 2558 ที่มียอดเฉลี่ย 27 บาท/คน/วัน เพราะไม่ได้ปรับขึ้นราคา เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยบริษัทสามารถปรับราคาได้ทุกๆ 18 เดือน ซึ่งปัจจุบันค่าตั๋วอยู่ที่ 15-42 บาท/เที่ยว ยังต่ำกว่าสิทธิที่เก็บค่าโดยสาร 20-60 บาท
นอกจากนี้ เมื่อ BTS ได้บริหารส่วนต่อขยายสายสีเขียวทั้งเขียวเหนือและเขียวใต้จะผลักดันยอดผู้ โดยสารเข้าระบบมากขึ้น โดยในเส้นทางรถไฟฟ้าเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คาดจะมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 2 แสนเที่ยวคน/วัน ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปรากการ คาดมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 1 แสนเที่ยวคน/วัน และมีแผนนำสัญญาเดินรถของทั้งสองเส้นทางขายเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบ ขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) หลังดำเนินการได้ระยะหนึ่ง
อีกทั้งภายใน 5-6 ปีข้างหน้าเมื่อโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าเปิดให้บริการครบ ประเมินว่า BTS จะมีจำนวนผู้โดยสารเข้าระบบเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านเที่ยวคน/วัน ซึ่งเมื่อถึงช่วงนั้น BTS คง ต้องเพิ่มรถไฟฟ้า และเพิ่มความยาวของตู้รถโดยสารจากปัจจุบันมี 4 ตู้ จะเพิ่มเป็น 6 ตู้ ขณะที่สมาชิกบัตรแรบบิทปัจจุบันเกิน 4.5 ล้านใบ ปี 2559 ตั้งเป้า 5 ล้านใบ จากแผนใช้ฐานลูกค้าบัตรแรบบิทต่อยอดธุรกิจออนไลน์
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้น