คลังเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาแนงทางแก้ไขหนี้นอกระบบแบบเบ็ดเสร็จ หลัง "ประยุทธ์" ไฟเขียวงัดมาตรา 44 ลงดาบผู้ทำผิด จ่อถกสรรพสามิต-เอกชน สรุปรีดภาษีน้ำหวาน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบการแก้ไขหนี้นอกระบบแบบเบ็ดเสร็จ โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว โดยให้กระ ทรวงการคลังเตรียมรายละเอียดทั้งหมดเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลังจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.2559
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขหนี้นอกระบบแบบเบ็ดเสร็จ จะแก้ไขหนี้นอกระบบ 2 ส่วน ในส่วนแรกเป็นการแก้ไขเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด 15% ต่อปี จะมีโทษทั้งทางแพ่งและอาญาโดยสูงสุดถึงขั้นจำคุก โดยโทษที่ประกาศใหม่ตามมาตรา 44 จะหนักกว่ากฎหมายปกติที่ใช้ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังให้โอกาสเจ้าหนี้นอกระบบหากยังต้องการปล่อยกู้นอกระบบ ต่อไปก็ต้องปล่อยกู้ดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี หากต้องการปล่อยกู้เกินกว่านั้น รัฐบาลได้เปิดทางให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาปล่อยกู้ให้ถูกต้อง โดยการเป็นมาจดทะเบียนปล่อยกู้พิโค ไฟแนนซ์ (Pico Finance) คิดอัตราดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 36% ต่อปี ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ได้รายละ 5 หมื่นบาท
ในส่วนที่สองเป็นการแก้ไขลูกหนี้นอกระบบให้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หลังจากที่ไม่สามารถจะกู้นอกระบบได้ปกติ โดยให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะตั้งสำนักงานแก้หนี้นอกระบบทำงานเป็นภาระกิจประจำและจะเป็นส่วนหนึ่งของ การการประเมินผลงาน โดยต้องคิดหาวิธีการแก้ไขหนี้นอกระบบอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งคือการหาผลิตภันฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ลูกหนี้นอกระบบเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร
ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ซึ่งจะเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบที่มีวงเงินสูงและตกลงกันไม่ได้มาไกล่ เกลี่ย หลังจากนั้นก็ส่งลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบสินเชื่อของธนาคารออมสิน หรือ ธกส. หรือจะเป็นลูกหนี้กับเจ้าหน้ารายเดิมก็ได้ แต่ต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินกฎหมายกำหนด
นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ยังได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดเก็บภาษีน้ำหวาน โดยมีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธาน มีผู้บริหารกรมสรรพสามิต และตัวแทนจากภาคเอกชน มีการประชุมกันไปบางแล้ว คาดว่าประชุมอีก 1-2 ครั้ง ก็จะสามารถสรุปได้ว่าจะเก็บหรือไม่เก็บภาษีดังกล่าว
ทั้งนี้ หากคณะทำงานสรุปว่าจะเก็บภาษี ก็ต้องพิจารณาเรื่องความเป็นธรรมในการเสียภาษี โดยแนวทางการเก็บภาษีน้ำหวานไม่ควรเก็บเพิ่มขึ้นกว่าที่เก็บอยู่เดิม ปัจจุบัน และจูงใจให้ผู้ประกอบการน้ำหวาน ลดส่วนประกอบน้ำตาลให้ลดลง โดยจะเสียภาษีอัตราต่ำกว่าเดิม
หากคณะทำงานสรุปว่าไม่ควรเก็บภาษีน้ำหวาน ก็ต้องมีแนวทางอื่นเพื่อให้สอดคล้องขอเสนอของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยแนวทางหนึ่งเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดส่วนผสมน้ำตาลในน้ำหวานให้ลดลง ซึ่งสามารถทำได้ เพราะ อย.เป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลด้านนี้โดยตรง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์