"รถไฟไทย-จีน" ยังไม่ตกผลึก เขย่าสูตรใหม่เร่งตั้ง SPV ขับเคลื่อนลงทุน

1,251 Views เผยแพร่ 4 ก.พ. 59
รถไฟไทย-จีน ยังไม่ตกผลึก เขย่าสูตรใหม่เร่งตั้ง SPV ขับเคลื่อนลงทุน

แม้จะปักธงเดินหน้า "สถานีเชียงรากน้อย" ไปแล้วก่อนสิ้นปี 2558 แต่ "โครงการรถไฟไทย-จีน" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนดูยังไม่คืบหน้า

สมคิดเขย่าสูตรลงทุนใหม่

ล่าสุด ผลการหารือนอกรอบเมื่อวันที่ 28-30 มกราคม 2559 "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ส่ง "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" ขุนคลัง เป็นแม่ทัพเสริมแรง "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" รมว.คมนาคมในการเจรจา เพราะต้องเร่งสรุปโครงการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว หลังเจรจาไปแล้ว 9 ครั้ง แต่ไม่มีบทสรุป นอกจากกรอบความร่วมมือ ฉะนั้น การเดินทางไปเยือนจีนของ 2 รัฐมนตรี กระทรวงเกรดเอ จึงถูกจับตามองเป็นพิเศษ

โจทย์ครั้งนี้ "สมคิด" สั่งให้ปรับวิธีเจรจาเขย่าสูตรลงทุนใหม่ ให้ "คลัง-คมนาคม" กล่อมจีนลุยตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน (SPV) ให้แล้วเสร็จเต็มโครงการในสัดส่วน 60% ทั้งก่อสร้างและระบบเดินรถ จากเดิมจีนจะลงทุนเฉพาะงานระบบเดินรถสัดส่วน 40% เท่ากับเป็นความพยายามของไทยที่จะต่อรองให้จีนรับความเสี่ยงโครงการร่วม เพราะโครงการนี้มีผลตอบแทนทางการเงินค่อนข้างต่ำ และปริมาณการขนส่งระหว่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งรถไฟจีนที่จะสร้างผ่านลาวมายังไทยยังไม่ได้เริ่มตอกเข็ม ฉะนั้นการที่จีนจะมาร่วมมือโดยหวังขายเทคโนโลยีและถ่ายทอดหลักสูตรฝึกอบรมด้านรถไฟฟ้า แล้วปล่อยเงินกู้ให้อย่างเดียวคงไม่ได้

ซึ่ง "สมคิด" ย้ำหนักแน่นว่า หากไม่ใช้สูตรของไทยก็จะไม่ทำ "ต้องการให้ฝ่ายจีนรับหลักการใหญ่ก่อน เพื่อเอาองค์กรให้เกิดขึ้นก่อน ค่อยมาคุยกันในรายละเอียด ถ้ามัวแต่พูดว่าดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์มันจะเกิดได้อย่างไร อยากให้จบจะได้เดินหน้าต่อไป มีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่ต้องทำร่วมกัน หากโครงการเดินหน้า ผมจะไปเยือนจีนเมื่อนั้น หากจีนรับหลักการและคุยกันจบได้เร็วภายในเดือน มี.ค. จะจัดตั้งบริษัทร่วมลงทุนขึ้น"

แต่สุดท้าย "จีน" ยังไม่รับข้อเสนอ รอให้ไทยเคาะค่าก่อสร้างที่จีนส่งผลศึกษาให้เสร็จเรียบร้อยก่อน คาดว่าจะมีการหารือกันอีกครั้งในการประชุมคณะกรรมการร่วมครั้งที่ 10 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

 

คลังระบุยังไม่เร่งสรุป 

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายไทยกับจีน เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับความร่วมมือในการลงทุนโครงการรถไฟไทย-จีน การดำเนินการยังเป็นไปตามกรอบความร่วมมือ (FOC) ที่ทำไว้ร่วมกัน อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันว่า จะรีบจัดตั้ง SPV ร่วมทุนไทยกับจีน เพื่อให้เข้ามาดำเนินการลงทุนโครงการ

"คาดว่าการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 คงจะพยายามให้มีการลงนามกำหนดกรอบเวลา (Time Frame) จะจัดตั้ง SPV ในระยะข้างหน้า" นายธีรัชย์กล่าวและว่า

สำหรับประเด็นเรื่องสัดส่วนการร่วมทุนใน SPV ที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายต้องการให้เพิ่มบทบาทการร่วมลงทุนของจีนให้มากขึ้น คงจะต้องมีการหารือกันอีกที ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป เช่นเดียวกับเงื่อนไขเงินกู้ที่ต้องรอสรุปเกี่ยวกับแบบก่อสร้างและต้นทุนโครงการให้ชัดเจนก่อน

"ตอนนี้ต้นทุนของ 2 ฝ่ายยังต่างกันอยู่ เงื่อนไขเงินกู้จึงไม่ได้จำเป็นจะต้องเร่งสรุปตั้งแต่ตอนนี้ ดังนั้นช่วงปลายกุมภาพันธ์นี้ คงมีการสรุปเรื่องต้นทุนโครงการ กรอบระยะเวลาการจัดตั้ง SPV กันต่อไป สรุปก็คือ ตอนนี้โครงการรถไฟไทย-จีนยังเดินหน้าไปตามกรอบ ยังไม่ตกราง เพียงแต่โครงการมีขนาดใหญ่ ก็ต้องใช้เวลา" นายธีรัชย์กล่าวย้ำ 

 

จีนยังชั่งใจสูตร 60 : 40

สอดคล้องกับแหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การประชุมกับประเทศจีนได้มีการหารือเรื่องรูปแบบและสัดส่วนในการลงทุน สำหรับรูปแบบการร่วมทุนฝ่ายไทยเสนอจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมกัน ทั้งการก่อสร้างและการเดินรถ ส่วนรายละเอียดของบริษัทจะต้องมาหารือกันอีกครั้ง เนื่องจากผลตอบแทนทางการเงินค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ

"สัดส่วนการลงทุนจะอยู่ในอัตราส่วน 60 : 40 โดยจีนจะเป็นผู้ลงทุนในสัดส่วน 60% ฝ่ายไทยจะลงทุน 40% ของโครงการ แต่จีนยังไม่ได้ให้คำตอบ เพราะรอผลสรุปมูลค่าก่อสร้างโครงการที่ไทยและจีนยังมีตัวเลขที่แตกต่างกันอยู่"

"ดังนั้นเรื่องเงื่อนไขการกู้เงินยังไม่ได้ข้อยุติ แม้ว่าจีนจะยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยกู้ให้จาก 2.5% เหลือ 2% เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ตอนนี้สิ่งที่ต้องเร่งทำ คือ ตรวจสอบค่าก่อสร้างทั้ง 2 ฝ่ายให้จบก่อน ถึงจะวิเคราะห์รูปแบบลงทุนและด้านการเงิน ขณะนี้ทั้งจีนและไทยก็เร่งตรงนี้ให้เสร็จภายในอาทิตย์นี้"

 

ค่าก่อสร้างห่างกัน 3%

ขณะที่ค่าก่อสร้าง แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับค่าก่อสร้างผลตรวจสอบล่าสุด ในเบื้องต้นคาดว่าจะแตกต่างกันประมาณ 3% โดยค่าก่อสร้างยังไม่รวมค่าเวนคืนที่ดินที่จีนเสนอมาทั้งโครงการอยู่ประมาณ 5.3 แสนล้านบาท ขณะที่ฝ่ายไทยประเมินคร่าว ๆ แล้ว ค่าก่อสร้างทั้งโครงการอยู่ที่ประมาณ 5.1-5.2 แสนล้านบาท ต่ำกว่าของจีนประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาท 

"เมื่อเราสรุปค่าก่อสร้างออกมา ทางจีนก็ส่งทีมงานบินด่วนจากจีนมาเพื่อขอชี้แจงรายละเอียดการคิดค่าก่อสร้างเป็นรายการว่าทำไมถึงคิดแบบนี้ จึงต้องจูนตรงนี้ให้ตรงกันโดยเร็ว"

 

เร่งเครื่องเฟสแรก กทม.-โคราช

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันมีนโยบายใหม่ให้เร่งวิเคราะห์การลงทุนและค่าก่อสร้างเฟสแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 271.5 กิโลเมตร เพื่อจะนำไปสู่การก่อสร้างให้ทันในเดือนพฤษภาคมนี้ ตามกรอบเวลาที่ทั้ง 2 รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายไว้ร่วมกันเพื่อเริ่มต้นโครงการ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่าทุกอย่างต้องได้ข้อยุติถึงจะเริ่มก่อสร้างได้

 

ปักหมุด 9 สถานี ลงทุน 1.8 แสนล้าน

ส่วนมูลค่าการก่อสร้าง แหล่งข่าวคาดว่า เฟสแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะใช้เงินก่อสร้างและลงทุนระบบรถประมาณ 1.8 แสนล้านบาท มีทั้งหมด 9 สถานี ได้แก่ สถานีบางซื่อ เชียงรากน้อย อยุธยา บ้านภาชี สระบุรี แก่งคอย ปางอโศก ปากช่อง และนครราชสีมา

"หากจีนตกลงตามที่ไทยเสนอให้จีนลงทุน 60% ไทยลงทุน 40% เท่ากับไทยใช้เงินลงทุนไม่มาก อยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท"

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั้ง 2 รัฐบาลจะพยายามตั้งไข่โครงการนี้ให้ได้ภายในปีนี้ แต่เมื่อดูรายละเอียดปลีกย่อยที่รออยู่ข้างหน้า จึงไม่ง่ายที่การก่อสร้างจะเริ่มต้นได้ทันเดดไลน์ 

หากเจรจาทุกอย่างลงตัว เร็วสุดก็ปลายปีนี้ อย่างช้าก็ปีหน้า หากเลวร้ายสุดไม่มีข้อยุติใด ๆ ที่จะนำไปสู่จุดคิกออฟโครงการดังกล่าว มีความเป็นไปได้ว่า "รัฐบาล คสช." จะส่งต่อให้รัฐบาลใหม่มาสานต่อ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ