แบงก์ฟันค่าธรรมเนียม 2-3 หมื่นล้าน จากบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์

3,176 Views เผยแพร่ 21 มิ.ย. 58
แบงก์ฟันค่าธรรมเนียม 2-3 หมื่นล้าน จากบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ลงนามความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง เพื่อออกบริการหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Guarantee และบริการรับชำระเงินค่าซื้อเอกสารประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ถือว่าสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่จะสนับสนุนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้า และยังลดการติดต่อระหว่างผู้ค้าและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงยังเป็นการป้องกันการทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การพัฒนาระบบนี้ยังออกมาเพื่อรองรับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งจะทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีความโปร่งใส และนักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นในระบบการจัดซื้อจัดจ้างของไทยมากขึ้น จากที่ผ่านมาเป็นแค่ระเบียบสำนักงานนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการรองรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอีมาร์เก็ต (e-market) และอีบิดดิ้ง (e-Bidding) ซึ่งจะเริ่มใช้แทนระบบอี-อ๊อกชั่น (e-Auction) ทั้งหมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 นี้ ซึ่งเป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ค้า และลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงป้องกันการทุจริต

ทั้งนี้การออกบริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ จะทำให้ค่าธรรมเนียมจากการออกหนังสือค้ำประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ หากคิดจากงบลงทุนปี 2558 วงเงิน 4.49 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์คิดค่าธรรมเนียม 2% ก็จะทำให้มีรายได้ถึง 9,000 ล้านบาท หากรวมงบลงทุนเหลื่อมปีอีก 3 แสนล้านบาท และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอีกปีละ 4 แสนล้านบาท จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีค่าธรรมเนียมปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ที่อยู่ระหว่างเสนอให้ ครม. พิจารณา มีสาระสำคัญ ได้แก่ เป็นการยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างของไทย จากที่เป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็น พ.ร.บ. ทำให้องค์กรต่างประเทศยอมรับ นอกจากนี้ยังมีบทลงโทษแก่
อธิบดี ปลัด และรัฐมนตรี ที่สั่งการและปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. ยังกำหนดให้มีการนำสัญญาคุณธรรมมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าเกิน 1 แสนบาทขึ้นไป ต้องใช้ระบบอีมาร์เก็ต และอีบิดดิ้ง ทั้งหมด

 

สำหรับธนาคารพาณิชย์ร่วมลงนาม MOU 15 แห่ง ได้แก่

  1. ธนาคารกรุงเทพ
  2. ธนาคารกรุงไทย
  3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
  4. ธนาคารกสิกรไทย
  5. ธนาคารเกียรตินาคิน
  6. ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
  7. ธนาคารทหารไทย
  8. ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย
  9. ธนาคารไทยพาณิชย์
  10. ธนาคารทิสโก้
  11. ธนาคารธนชาต
  12. ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
  13. ธนาคารยูโอบี
  14. ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)
  15. ธนาคารไอซีบีซี (ไทย)

และสามารถสอบถามเพิ่มเติมที่ธนาคารพาณิชย์ข้างต้นได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

หมวดบทความ :

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ