ไม่ว่าคุณจะเป็นพ่อครัว แม่ครัวมือฉมัง หรือเป็นพ่อบ้าน แม่บ้านอาหารถุง เมื่อปรุงหรือซื้ออาหารมาแล้วรับประทานไม่หมด บางบ้านก็ไม่ทิ้งให้เสียของ เพราะยึดหลักประหยัด การเก็บอาหารที่รับประทานไม่หมดเอาไว้รับประทานในมื้อหน้าจึงเป็นทางเลือกที่หลายๆ บ้านทำกัน การเก็บอาหารไม่ควรวางอาหารทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะจะเปิดโอกาสให้เชื้อโรคปนเปื้อนผสมลงไปกับอาหาร
ทางที่ดีในการเก็บรักษาอาหารควรเก็บใส่ภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด หากเป็นอาหารที่เสียง่าย ควรนำเข้าตู้เย็นแช่ไว้ในอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส เพราะเชื้อแบคทีเรียที่เป็นพิษต่ออาหารจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ในอุณหภูมิที่สูงกว่า 5 องศาเซลเซียส และระยะเวลาในการเก็บไม่ควรนานเกิน 3 วัน หรือจนกว่าอาหารเริ่มมีลักษณะหรือกลิ่นที่เปลี่ยนไป
สำหรับการอุ่นอาหาร ถือเป็นการสยบเชื้อโรคได้ผลชงัก แต่คุณต้องเข้าใจเคล็ดลับในการอุ่นให้อาหาร เพราะเมื่อถึงเวลานำอาหารเหล่านั้นกลับมารับประทาน ขั้นตอนในการอุ่นอาหารเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจและทำให้ถูกต้อง เพื่อฆ่าเชื้อโรคป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการรับประทานอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบการอุ่นอาหารแบ่งเป็นแบบหลักๆ ดังนี้
การอุ่นอาหารด้วยเตาแก๊ส
ครัวบ้านไหนพึ่งการอุ่นอาหารด้วยเตาแก๊สเป็นหลัก เมื่อเทใส่ในหม้อหรือกระทะแล้วตั้งไฟให้ร้อนจัด อุณหภูมิความร้อนควรอยู่ระหว่าง 60-70 องศาเซลเซียส
หรือให้อาหารร้อนจนเดือด ระหว่างอุ่นต้องคนคลุกเคล้าอาหารเพื่อให้ความร้อนกระจายได้ทั่วถึง และอุ่นให้นานราว 15 นาที
การอุ่นอาหารด้วยเตาไมโครเวฟ
ครัวไฮเทคที่มีเตาอบไมโครเวฟเป็นตัวช่วย แม้จะเร็วและไม่ทำให้คนทำต้องยืนร้อนอยู่หน้าเตา แต่ไมโครเวฟมีข้อด้อยกว่าเตาแก๊สตรงที่ระหว่างอุ่นอาหารไม่สามารถคลุกเคล้าได้ จึงทำให้อาหารมีอุณหภูมิไม่เท่ากัน โมเลกุลคลื่นไมโครเวฟก็ลงลึกได้เพียง 1-2 นิ้วเท่านั้น หากสังเกตดีๆ อาหารที่อุ่นด้วยไมโครเวฟแบบรีบๆ จะสุกหรือร้อนไม่เท่ากัน
วิธีแก้ไขคือ อาหารที่จะอุ่นต้องใส่ในภาชนะหรือฝาครอบสำหรับไมโครเวฟโดยเฉพาะ อาหารที่มีชิ้นใหญ่หรือหนา ให้วางไว้บริเวณขอบฐานรองหมุน เพราะจะถูกคลื่นความร้อนมากกว่าวางตรงกลาง ไม่ควรตั้งเวลาอุ่นให้นานแบบทีเดียวเสร็จควรแบ่งตั้งเป็นช่วงๆ เพื่อหยุดนำอาหารออกมาคนให้ความร้อนกระจายไปได้ทั่วถึง