เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2559 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แอนด์ คอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูล ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของประชาชน ครั้งที่ 3
ภายใต้โครงการ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน โดยผู้เข้าร่วมการสัมมนาและชมนิทรรศการเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการก่อสร้าง รถไฟขนาดทางมาตรฐาน มากกว่า 400 คน ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ธุรกิจ อุตสาหกรรม หอการค้าจังหวัด และประชาชนชาวขอนแก่น
นายอาคมกล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการก่อสร้าง รถไฟขนาดทางมาตรฐาน ตามกรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 - 2565 โดย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามของฝ่ายรัฐบาลไทย และผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติเป็นผู้ลงนามของฝ่ายรัฐบาลจีน เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2557 ณ ทำเนียบรัฐบาล
โครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐาน ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) รวมระยะทาง 845 กม. มีแนวเส้นทาง แบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่
- ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ (บางซื่อ) - แก่งคอย ระยะทาง 118 กม.
- ช่วงที่ 2 แก่งคอย - มาบตาพุด ระยะทาง 239 กม.
- ช่วงที่ 3 แก่งคอย - นครราชสีมา ระยะทาง 134 กม.
- ช่วงที่ 4 นครราชสีมา - หนองคาย ระยะทาง 354 กม.
"โดยให้ความสำคัญเส้นทางกรุงเทพ-หนองคาย เป็นลำดับแรก ส่วนแก่งคอย-มาบตาพุดเป็นระยะต่อไป ความคืบหน้าอยู่ระหว่างทำรายละเอียดโครงการหาข้อสรุปมูลค่าลงทุนที่ยังต่างกันอยู่ระหว่างไทยและจีน จะเจรจาให้จีน คิดค่าก่อสร้างไม่แพวเกินไป"
ซึ่งจะเป็นการเดินทางและการขนส่งสินค้าอีกทางเลือกหนึ่งที่มีความเร็วสูงในอนาคตและสามารถทำให้ประเทศไทยเชื่อมโยงระบบรางไปถึงจีนได้โดยผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการกระจายความเจริญ และรายได้สู่ภูมิภาคตลอดแนวเส้นทางที่รถไฟวิ่งผ่าน โดยทุกจังหวัดในแนวเส้นทางรถไฟ จะต้องจัดทำแผนพัฒนารองรับเส้นทางรถไฟสายนี้ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ อย่างแท้จริง นายอาคมกล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาทางรถไฟขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะเป็นโครงข่ายระบบรางพื้นฐานของประเทศไทย ที่จะสามารถพัฒนาให้ระบบรางเป็นการขนส่งหลักได้
ในระยะเร่งด่วน กระทรวงคมนาคมจะก่อสร้างรถไฟทางคู่ 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร โดย
- ช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า - แก่งคอย และช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561
- ช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร และช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ
- ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ, ช่วงนครปฐม - หัวหิน และช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติภายในปี 2559
ในอนาคตหากโครงการก่อสร้างรถไฟขนาดทางมาตรฐานแล้วเสร็จ จ.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลาง ด้านคมนาคมขนส่งทางรางที่สำคัญในระดับภูมิภาคอาเซียน ตามแผนพัฒนาโครงข่ายระบบคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2565 โดย จ.ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรถไฟ จุดพักและการกระจายสินค้าไปยังจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งพื้นที่ในภาคตะวันออก และประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้ การสัมมนาฯ จะจัดขึ้นอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา ในวันที่ 1 มี.ค. 59 ณ โรงแรมดุสิต ปริ้นเซส จ.สระบุรี ในวันที่ 2 มี.ค. 59 ณ โรงแรมเกี่ยวอัน และ จ.ระยอง ในวันที่ 10 มี.ค. 59 ณ โรงแรมโนโวเทล ริมเพ รีสอร์ท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์