นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมได้ส่งรายละเอียดของที่ราชพัสดุที่จะนำไปก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับผู้มี รายได้น้อยที่จะดำเนินการร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้ กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยมีที่ดินเหมาะสม 76 แปลง เนื้อที่ประมาณ 5,000 ไร่ อยู่ใน กทม. 1 แปลง บริเวณจตุจักร เป็นพื้นที่เก่าขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ประมาณ 4 ไร่ และพื้นที่รอบนอก กทม.อีกประมาณ 8 แปลง ที่เหลือกระจายตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวว่า กรมคิดอัตราค่าเช่าพื้นที่ถูกที่สุด หากเป็นพื้นที่ใน กทม.คิดเพียง 50 สตางค์ต่อ ตร.ว.ต่อปี ต่างจังหวัดคิด 25 สตางค์ต่อ ตร.ว.ต่อปี เช่าได้ 30 ปี ใช้สิทธิการเช่าได้ทั้งประชาชนหรือผู้ประกอบการ "หากผู้ประกอบการเช่าจะบวกเพิ่มเป็นต้นทุนของบ้านหรือคอนโด แต่การเช่าทั้งแปลงจะมีราคาถูกกว่าประชาชนมาเช่าเอง ส่วนการพัฒนาที่ดินร่วมกับผู้ประกอบการจะดำเนินการรูปแบบไหน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังศึกษาทั้งรูปแบบการพัฒนา การเช่า สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะให้ผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้เอกชนมาลงทุน" นายจักรกฤศฏิ์กล่าว
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าพัฒนาที่ดินมักกะสันว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้จะสรุปเรื่องของพื้นที่และกรอบเวลาที่การรถไฟแห่ง ประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะส่งมอบให้กรมธนารักษ์ ก่อนหารือกันอีกครั้งเพื่อนำไปสู่การลงนามระหว่าง 2 หน่วยงาน ขณะนี้มีกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯทั้งของไทยและต่างประเทศสอบถามเข้ามาแล้ว คาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจะคุ้มค่ากับหนี้รถไฟกว่า 6 หมื่นล้านบาทหรือไม่นั้นคงต้องศึกษาเรื่องรูปแบบการลงทุนอีกครั้งก่อน ส่วนกรณีที่หมอชิตอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รูปแบบโครงการ ผลตอบแทน และอายุสัมปทาน ทั้งนี้ บริษัท ซัน เอสเตท ยังมีสิทธิดำเนินการโครงการต่อตามสัมปทานที่ได้รับ แม้จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท บางกอก เทอร์มินอล และเปลี่ยนผู้ถือหุ้นก็ตาม ซึ่งมีการเจรจาเบื้องต้นแล้วทางบริษัทสนใจจะเดินหน้าต่อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน