BTS "ตลิ่งชัน" บูมอสังหาฯฝั่งธน ชุมทางเชื่อม 3 สี "แดง-ส้ม-น้ำเงิน" รื้อผังเมืองพัฒนาเชิงพาณิชย์

2,850 Views เผยแพร่ 9 มี.ค. 58
BTS ตลิ่งชัน บูมอสังหาฯฝั่งธน ชุมทางเชื่อม 3 สี แดง-ส้ม-น้ำเงิน รื้อผังเมืองพัฒนาเชิงพาณิชย์

กทม. ทุ่ม 1.3 หมื่นล้านขีดรถไฟฟ้าบีทีเอสไปฝั่งธนฯ จาก "บางหว้า-ตลิ่งชัน" ระยะทาง 7-8 กม. เตรียมรื้อผังเมืองรวมใหม่ จากพื้นที่รับน้ำหันมาบูมพื้นที่พาณิชยกรรม-ที่อยู่อาศัย รองรับ "สถานีตลิ่งชัน" ชุมทางรถไฟฟ้า 3 สาย "บีทีเอส-สีแดง-สีส้ม" ตั้งแท่นชง ครม. บรรจุแผนแม่บทหลังผลการศึกษาจบ ก.ย.นี้

นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กทม. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมจัดทำแบบเบื้องต้น และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน เนื่องจากมีพื้นที่โครงการทั้งหมดอยู่ในเขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ ปัจจุบันมีหมู่บ้านจัดสรร ศูนย์อาหาร ร้านค้ากระจายอยู่เต็มพื้นที่ แต่ยังขาดระบบขนส่งมวลชนมาเชื่อมการเดินทาง ทำให้ประชาชนต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนราชพฤกษ์ โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนและวันหยุด

เชื่อมรถไฟฟ้า 4 สาย รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาการจราจรฝั่งธนบุรี และเปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่ ๆ เนื่องจากแนวเส้นทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 4 สายทาง ได้แก่

  • สายสีเขียว ช่วงถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ถึงบางหว้า
  • สายสีน้ำเงิน ช่วงท่าพระถึงบางแค
  • สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อถึงตลิ่งชัน
  • สายสีส้ม ช่วงตลิ่งชันถึงดินแดง

สำหรับแนวโครงการ บริษัทที่ปรึกษาเสนอ 3 เส้นทางเลือก ครอบคลุมพื้นที่ 2 เขต 11 แขวง คือ บางหว้า บางด้วน ปากคลองภาษีเจริญ คูหาสวรรค์ บางจาก บางแวก บางเชือกหนัง บางระมาด ฉิมพลี บางพรม ตลิ่งชัน โดยทั้ง 3 แนวเส้นทางมีสถานีร่วมกัน คือ สถานีบางแวก กับสถานีกระโจมทอง

โดยแนวเส้นทางที่ 1 ระยะทาง 7-8 กิโลเมตร มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีบางแวก สถานีกระโจมทอง สถานีบางพรม สถานีอินทราวาส สถานีบรมราชชนนี สิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชัน

มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่จุดเชื่อมต่อกับโรงจอดรถที่บริเวณบางหว้า วิ่งไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชพฤกษ์ จะสร้างบนพื้นที่เกาะกลางความกว้าง 3-3.5 เมตร แล้วผ่านแยกตัดบางแวก ตรงซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 ทางแยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 จากนั้นจะยกระดับขึ้นไปข้ามทางแยกตัดถนนบรมราชชนนี และยกระดับเพื่อข้ามทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตกที่กำลังก่อสร้างตามแนวรถไฟ สายใต้ สิ้นสุดที่ทางลาดลงของสะพานข้ามรถไฟสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี)

แนวเส้นทางที่ 2 ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร มี 8 สถานี ได้แก่ สถานีบางแวก สถานีกระโจมทอง สถานีบางพรม สถานีพุทธมณฑลสาย 1 สถานีโพธิสาร สถานีบรมราชชนนี สถานีตลิ่งชัน สิ้นสุดที่สถานีฉิมพลี

มีจุดเริ่มต้นเดียวกับแนวที่ 1 คือใช้พื้นที่เกาะกลางตามแนวถนนราชพฤกษ์มุ่งหน้าทิศเหนือ แต่เลี้ยวซ้ายที่ทางแยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 1 สิ้นสุดที่ปลายถนนสวนผัก บรรจบกับแนวเส้นทางรถไฟสายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ที่สถานีศาลาธรรมสพน์

แนวเส้นทางที่ 3 เหมือนแนวที่ 1 ยกเว้นช่วงปลายทางหลังจากทางยกระดับบรมราชชนนี จะเบี่ยงแนวเส้นทางไปทางทิศตะวันตกเข้าสู่สถานีตลิ่งชัน ซึ่งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟสายสีแดงอ่อนมากที่สุด จากนั้นจะเบี่ยงแนวเส้นทางผ่านพื้นที่เอกชนกลับมายังถนนราชพฤกษ์อีกครั้ง ระยะทาง 7-8 กิโลเมตร มี 6 สถานี ได้แก่ สถานีบางแวก สถานีกระโจมทอง สถานีบางพรม สถานีอินทราวาส สถานีบรม ราชชนนี และสิ้นสุดสถานีตลิ่งชัน เคาะแนวสร้างบน ถ.ราชพฤกษ์


จากทั้ง 3 แนวเส้นทางนั้น แนวที่ 1 กับ 3 เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากเป็นเส้นทางตัดตรง ระยะทางสั้น เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ที่สถานีตลิ่งชัน, สายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางแค) และสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี

ที่สำคัญจะไม่มีการเวนคืนที่ดินเพราะสร้างบนเกาะกลางถนนเดิม อาจจะมีเวนคืนเล็กน้อยช่วงปลายทางแนวที่ 3 จำนวน 30 ไร่ ที่จะต้องตัดผ่านที่ดินเอกชน เพื่อให้เชื่อมกับสถานีตลิ่งชันของสายสีแดง

"ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 1,500 ล้านบาท/กิโลเมตร รวมเวนคืนที่ดินแล้ว คาดว่าลงทุนทั้งโครงการ 11,000-13,000 ล้านบาท ผลศึกษาจะแล้วเสร็จกันยายนนี้ จากนั้น กทม.จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อนำโครงการบรรจุเข้าไปในแผนแม่บท รถไฟฟ้าเพิ่มเติม เพราะเป็นโครงการใหม่ ขณะเดียวกัน กทม.จะพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม 3 แนวทาง คือ กทม.ลงทุนเอง ให้สัมปทานเอกชน และบริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นผู้ดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี'61 แล้วเสร็จเปิดใช้ปี 2564" นายอมรกล่าว

"ตลิ่งชัน" ฮับรถไฟฟ้าสำหรับประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ เจ้าของที่ดินและทรัพย์สิน โรงเรียน วัด สถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษาให้ความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากแนวเส้น ทางซ้ายและขวา ข้างละ 500 เมตร อาทิ ชุมชนข้างวัดทอง โรงเรียนโพธิสารพิทยากร โรงเรียนมหรรณพาราม วัดทองเชือกหนัง โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เดอะเซอร์ เคิลราชพฤกษ์ หมู่บ้านลดาวัลย์ เป็นต้น

"ต่อไปทำเลตลิ่งชันจะน่าสนใจมาก เมื่อรถไฟฟ้าเส้นนี้สร้างเสร็จ เพราะสถานีตลิ่งชันจะกลายเป็นชุมทางรถไฟฟ้า 3 สาย คือ บีทีเอส สีแดง สีส้ม กำลังเตรียมปรับผังเมืองรวม กทม.ใหม่ เพื่อรับกับความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันการใช้ประโยชน์ที่ดินของพื้นที่ตลิ่งชันเป็นพื้นที่สีเขียวลาย ขาว หรือพื้นที่รับน้ำ เน้นเกษตรกรรม จะปรับสีการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ เช่น พื้นที่ย่านพาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย เป็นต้น ซึ่งผังเมือง กทม.จะหมดอายุปี 2562 คาดว่าจะพอดีกับที่รถไฟฟ้าเปิดใช้บริการ" รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ