กสิกร ไทย ตั้งเป้าขายสินเชื่อบ้านให้บตท.ปีนี้ 5,000 ล้านบาท หวังบริหารพอร์ตช่วยลูกค้ารายใหม่เข้าถึงเงินกู้ซื้อบ้านเพิ่ม เผย 5 ปีขายแล้ว 15,000 ล้านบาทเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่จับสัญญาณหนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้น พร้อมเข้าไป ช่วยเหลือปรับโครงสร้างลูกหนี้ ทั้งปีคาดไม่เกิน 2.7-2.8% ขณะที่ บตท. อ้อนคลังเพิ่มทุน 2,000 ล้านบาท รองรับการขยายงาน ยังอยู่ระหว่างเจรจากับสถาบันการเงินเพิ่มอีก 5 แห่งวงเงินสินเชื่อบ้าน 20,000 ล้านบาท
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารจะขายพอร์ตลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้กับบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) จำนวน 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายใหม่ได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2554 ได้ขายสินเชื่อดังกล่าวให้บตท. ไปแล้วกว่า 9,500 ล้านบาท หากรวมยอดในครั้งนี้ จะมีมูลค่าโครงการจัดซื้อรวมประมาณ 15,000 ล้านบาท ดังนั้น ธนาคารนับเป็นผู้ขายสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ บตท. รายใหญ่ที่สุดในขณะนี้
นายปรีดี กล่าวว่า ในตลาดยังพบสัญญาณการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้น แต่ในส่วนของธนาคาร ยังระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่หนี้เสียหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งลดวงเงินผ่อนชำระต่องวด เช่น จาก 3,000 บาทต่องวดเหลือ 2,000 บาทต่องวด หรือยืดระยะเวลาผ่อนชำระไปอีก 1 ปี สำหรับเป้าหมายสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารปีนี้ ยังคงเป้าหมายไว้ที่ 4% เป็นเม็ดเงิน ประมาณ 42,000 ล้านบาท ช่วงครึ่งปีแรกมียอด ปล่อยสินเชื่อแล้ว 2.4 หมื่นล้านบาทเติบโตที่ 3% และมีเอ็นพีแอล (NPL) 2.7% ทั้งปีคาดไม่เกิน 2.7-2.8% พร้อมกันนี้หากรัฐบาลมีมาตรการลดภาษีการโอน การจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีมีประโยชน์ ทำให้คนมีเงินเหลือเอามาใช้จ่ายอย่างอื่นได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยใช้มาตรการเช่นนี้มากแล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ชะลอการก่อสร้างไปบ้างแล้ว ก็ถือเป็นการระมัดระวังที่ดีไม่ให้เกิดปัญหาตามมาและผู้ประกอบการมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ด้าน นางพรนิภา หาชัยภูมิ กรรมการและ ผู้จัดการ บตท. กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดซื้อสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยมีการขยายตัวต่อเนื่องและขณะนี้ยังอยู่ระหว่างหารือกับสถาบัน การเงินอีก 5 แห่ง เพื่อจัดซื้อสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม วงเงินทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า ธนาคารผู้ให้สินเชื่อ เล็งเห็นประโยชน์และความสำคัญของระบบตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นตัวกลางสร้างการหมุนเวียนในระบบการเงิน
พร้อมกันนี้ หาก บตท.ได้รับเงินอนุมัติเงินเพิ่มทุนอีก 2,000 ล้านบาท จากกระทรวงการคลัง ตามที่เสนอขอไปแล้ว จะช่วยให้ บตท. สามารถรองรับการขยายงานดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปี ข้างหน้าด้วย เนื่องจากปัจจุบันอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ระดับ 13.3% ถือว่าใกล้ชนเพดานและจะลดลงเรื่อยๆ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ