นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในเร็วๆ นี้ กนอ.เตรียมลงนามความร่วมมือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการพัฒนาส่งเสริมด้านนวัตกรรมการใช้ยางพาราในประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มปริมาณการใช้ในประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงศักยภาพของบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญที่จะมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราที่จะเกิดขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในรูปแบบของคลัสเตอร์ในนิคมฯยางพารา หรือ รับเบอร์ซิตี้
"เป้าหมาย ของการพัฒนานิคมฯ ต้องมองโครงสร้างทั้งระบบ เพื่อรองรับให้เกิดการลงทุน ซึ่งมีหลายมิติ นอกเหนือจากพื้นที่รองรับการก่อสร้างโรงงาน แต่เรามองลึกไปถึงเรื่องของแรงงานในพื้นที่ รวมทั้งจะต้องสร้างแรงงานฝีมือขึ้นมารองรับกับเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนา อย่างต่อเนื่อง เพราะแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยางตามนโยบายของรัฐบาล จะต้องใช้ทั้งเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิต ดังนั้นการดึงสถาบันการศึกษาโดยนำ มอ. เข้ามาร่วมมือครั้งนี้ เพื่อเตรียมแรงงานป้อนเข้าสู่ระบบให้พร้อมและเดินหน้าได้อย่างมี ประสิทธิภาพ" นายวีรพงศ์ กล่าว
โดยขอบเขตความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เน้นไปที่การส่งเสริมพัฒนาทั้งระบบ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านต่างๆ ให้กับอุตสาหกรรมยางพารา อาทิ โครงการนำร่อง "สวนยางในอนาคต" โครงการอาร์แอนด์ดี (R&D) ศูนย์ข้อมูล ศูนย์แสดงสินค้า โลจิสติกส์ ตลาดกลาง คลังสินค้า รวมทั้ง การมีสถาบันฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร สถาบันการศึกษาเกี่ยวกับยางพาราเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขันใน อุตสาหกรรมยางพารา ที่คาดว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาในตลาดโลกที่สูงขึ้นในอนาคต
สำหรับแผนการพัฒนานิคมฯยางพารา (Rubber City) ตั้งอยู่ในเฟส 2/2 และ 3 ของนิคมฯภาคใต้ จ.สงขลา บนพื้นที่ 755 ไร่ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเริ่มเข้ามาก่อสร้างโรงงานได้ในเดือน ก.ย. ปี 2559 และจะเริ่มประกอบกิจการภายในเดือน ก.ค.ปี 2560
ในส่วนการวางระบบสาธารณูปโภคของ กนอ. มีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างในช่วงเดือน มี.ค.ปี 2559 แบ่งออกเป็น 2 พื้นที่ คือ โซนเอ (Zone A) และ โซนบี (Zone B) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.ปี 2560 และจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในการวางระบบสาธารณูปโภคทั้งหมด ในเดือนปี ม.ค. 2561 ทั้งนี้ กนอ. ตั้งเป้าหมายโรงงานที่จะเข้ามาลงทุนภายในนิคมฯยางพารา ทั้งสิ้น 70 โรงงาน ภายใน 5 ปี (2564) รวมมูลค่าเม็ดเงิน ไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าในด้านการดึงดูดนักลงทุน และการเตรียมความพร้อมของนักลงทุนที่จะเข้ามา กนอ.ได้เตรียมเดินสายโรดโชว์กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ให้เห็นถึงความคืบหน้าในแผนการก่อสร้างการบริหารจัดการ
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในด้านภูมิศาสตร์ เป็นศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาค เพราะพื้นที่การ เพาะปลูกยางนอกเหนือจากในประเทศแล้ว ยังมีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งเพาะปลูก ที่จะสามารถเชื่อมโยงแหล่งวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานในอนาคตได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า