ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองกรุง ยังคงมีสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เป็นศูนย์รวมจิตใจ ความเลื่อมใสศรัทธา และความเชื่อของผู้คนอย่าง วัด สถานที่แห่งการทำบุญ ไหว้พระ ประกอบพิธีทางศาสนาต่างๆของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวันสำคัญทางศาสนาหรือวันธรรมดา วัดก็ไม่เคยว่างเว้นจากผู้คนที่ยังคงไปทำบุญไหว้พระกันอยู่เสมอ วันนี้ทีมงานบ้านคุ้มค่าได้รวบรวมวัดชื่อดังในกรุงเทพฯ ที่ทุกๆคนสามารถเดินทางไปได้ด้วยรถไฟฟ้าทั้ง BTS และ MRT ชนิดที่ลงรถไฟฟ้าแล้วสามารถเดินเข้าวัดได้ในระยะทางที่ไม่ไกลจนเกินไปมาฝากกัน มีวัดไหนกันบ้างลองมาดูกันครับ
1. วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก)
BTS - สถานีสุรศักดิ์ / BTS สถานีช่องนนทรี
วัด ที่ถูกสร้างขึ้นมานานกว่า 100 ปี บนถนนสายการค้าที่พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของมหานครกรุงเทพ วัดแห่งนี้เราเรียกกันสั้นๆ ติดปากว่า วัดแขก หรือชื่อเต็มๆ ที่เรียกขานตามองค์พระประธานว่า วัดพระศรีมหาอุมาเทวี ชื่อ ของ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี นั้น บ่งบอกให้เราได้รู้ถึงนิกายที่ผู้ก่อตั้งนับถือว่าเป็น นิกายศักติ คือนับถือเทพสตรี (มหาเทวี) เป็นหลัก เทพสตรีอย่าง พระศรีมหาอุมาเทวี หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า พระแม่อุมา
2. วัดมหาบุศย์ (วัดแม่นาคพระโขนง)
BTS - สถานีพระโขนง
วัดมหาบุศย์ หรือที่มักนิยมเรียกกันอย่างติดปากว่า วัดแม่นาคพระโขนง เหตุที่เรียกเช่นนี้ เพราะภายในวัดมหาบุศย์มี ศาลแม่นาค หรือ ย่านาค ตั้งอยู่ ผู้คนจึงพากันเรียกว่า วัดแม่นาคพระโขนง เล่ากันว่าวัดมหาบุศย์ เป็นวัดราษฎร์ที่เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2305 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดย พระมหาบุตร วัดเลียบ (วัดราชบูรณะ) ที่ได้เดินทางมาเยี่ยมญาติโยมของท่านในคลองพระโขนง ชาวบ้านรู้ข่าวจึงได้นิมนต์ให้อยู่ และนำสร้างวัดขึ้นโดยให้ชื่อว่า วัดมหาบุศย์ ตามชื่อของท่าน และยังเป็นวัดที่มีส่วนเกี่ยวพันกับหนังผีคู่เมืองไทยอย่างเรื่องแม่นาคพระโขนงอีกด้วย
3. วัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยเย่ / วัดมังกร)
MRT - สถานีหัวลำโพง
วัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยเย่ หรือบ้างก็เรียก วัดมังกร เป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับคนเกิดปีชง มาทำพิธีแก้ชงที่นี่ซึ่งนับเป็นสังฆารามตามลัทธินิกายมหายานที่มีศิลปะงดงาม และใหญ่ที่สุดในประเทศไทยซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว (พระปิยมหาราช) รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามใหม่ว่า วัดมังกรกมลาวาส โดยได้อาราธนาพระอาจารย์สกเห็งเป็นเจ้าอาวาส จุดเด่นของวัดนี้คือ การไหว้พระแก้ชง ซึ่งชาวจีนนิยมไปแก้ปีชงกันเป็นจำนวนมาก
4. วัดหัวลำโพง
MRT - สถานีสามย่าน
วัดหัวลำโพง เป็นวัดเก่าแก่โบราณ คู่บ้านคู่เมือง สร้างมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ที่ไม่ปรากฏหลักฐานผู้สร้าง เดิมชื่อวัด วัวลำพอง ต่อมารัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระกฐินที่วัดวัวลำพองนั้น ได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ พระราชทานนามว่า วัดหัวลำโพง และได้รับการโปรดเกล้าฯจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยกฐานะวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง ปัจจุบันทางวัดเปิดให้ประชาชนทั่วไป มาทำบุญโลงศพ และไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกวัน
5. วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร (วัดสระปทุม)
BTS - สถานีสยาม
บน ถนนพระรามที่ 1 ย่านธุรกิจและห้างสรรพสินค้า ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวาย หลายคนอาจไม่รู้ว่าที่นี่มีวัดเก่าแก่สวยงามด้วย นั่นคือ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอนและห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 คู่กับพระราชอุทยานสำหรับพักผ่อนพระราชอริยบทนอกพระนคร ที่เรียกกันว่า วังสระปทุม และพระราชทานนามวัดว่า วัดปทุมวนาราม แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสระปทุม ซึ่ง วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากฝั่งลาวถึง 3 องค์ด้วยกัน นั่นก็คือ พระเสริม , พระแสน และพระไสหรือพระสายน์
6. วัดธาตุทอง
BTS - สถานีเอกมัย
ในอดีตอารามแห่งนี้เดิมมี 2 วัด คือ วัดหน้าพระธาตุ และวัดทองล่าง ต่อมาในปีพุทธศักราช 2480 รัฐบาลต้องการที่เพื่อสร้างท่าเรือกรุงเทพฯ วัดหน้าพระธาตุและวัดทองล่าง ซึ่งอยู่ภายในบริเวณนั้นจึงถูกเวนคืนที่ดิน หลังจากได้สถานีที่ใหม่ในการสร้งวัดทั้ง 2 เข้ารวมกันและนำมงคลนามทั้ง 2 วัดนี้มารวมกันและตั้งใหม่ว่า วัดธาตุทอง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดธาตุทอง เป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ จวบมาจนถึงปัจจุบัน
7. วัดยานนาวา
BTS - สถานีสะพานตากสิน
เดิมชื่อว่า วัดคอกควาย เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และได้รับการยกย่องขึ้นเป็นพระอารามหลวงในช่วงกรุงธนบุรี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระอุโบสถหลังเล็กขึ้นถวาย และพระราชทานวิสุงคามสีมา ให้แก่ทางวัดใหม่ว่า วัดคอกกระบือ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปฏิสังขรณ์พระอุโบสถวัด และทรงให้สร้างพระเจดีย์มีฐานเป็นสำเภาอยู่ข้างหลังพระอุโบสถ และทรงพระราชทานนามวัดใหม่ เป็น วัดญานนาวาราม