กทม.เร่ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-รามอินทรา ลาดพร้าว-รามคำแหง-ทองหล่อ เดินหน้าเคลียร์ปมชาวทองหล่อ บิ๊ก สจส.เผยเตรียมหาทางเลี่ยงจราจรช่วงการก่อสร้างไว้หลายแนว ด้านกูรูประเมินที่ดินชี้ย่านวัชรพล-ทองหล่อ ราคาปรับขึ้นทะลุ 2.5 - 6 แสน/ตร.ว.
นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ถึงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา เส้นทางวัชรพล-รามอินทรา ลาดพร้าว-รามคำแหง-ทองหล่อ ที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ยื่นขอรับรองการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พร้อมกับเร่งสรุปความชัดเจนด้านรูปแบบการลงทุนก่อนนำเสนอผู้บริหารระดับสูง ของกทม.เร่งผลักดันโครงการต่อไป แม้ว่าช่วงทองหล่อจะมีการต่อต้านก็ตามแต่ กทม.จะยังคงเดินหน้าโครงการต่อไปพร้อมกับหาแนวทางแก้ไขผลกระทบดังกล่าว
ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กล่าวว่า กรณีการต่อต้านของชาวทองหล่อ คาดว่าเป็นความกังวลมากกว่าไม่ใช่ต่อต้านโครงการ ในเบื้องต้นได้คิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรช่วงการก่อสร้างไว้หลายแนวทาง ซึ่งจะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน หากจะปรับเปลี่ยนเส้นทางคงจะดำเนินการได้ยากกว่า เพราะผ่านขั้นตอนการศึกษาจนเกือบครบสมบูรณ์แล้ว ประการสำคัญการก่อสร้างใต้ดินช่วงทองหล่อนั้นขั้นตอนจะยุ่งยากมากกว่า และใช้งบมากกว่าหลายเท่า
"ปี 2559 รูปแบบการลงทุนต้องชัดเจน ผลการศึกษาแล้วเสร็จ รอผลการรับรองอีไอเอ พร้อมนำเสนอคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) รับทราบผลการศึกษา ก่อนนำเสนอผู้บริหาร กทม.เร่งผลักดันต่อไป เบื้องต้นมีแนวคิดจะร่นระยะเวลาก่อสร้างเพื่อเลี่ยงผลกระทบตามที่บางกลุ่มกังวล"
ผอ.สจส.กล่าว อีกว่าเตรียมจะใช้ที่ดินร่วมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงถนนพระราม 9-รามคำแหง และสายสีชมพู ช่วงถนนรามอินทรา โดยช่วงพื้นที่ย่านวัชรพลจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเจ้าของที่ดินรายใดมานำเสนอ แตกต่างกับช่วงทางด่วนเอกมัย-รามอินทราที่กลุ่มเค.อี.แลนด์ นำเสนอที่ดินสนับสนุนโครงการดังกล่าวนี้เพื่อการก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง
นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่าแนวคิดของคนบางกลุ่มของชาวทองหล่ออยากจะให้ก่อสร้างจาก วัชรพล-รามคำแหง หรือปรับเปลี่ยนแนวไปผ่านซอยสุขุมวิท 71 ให้ไปเชื่อมกับพื้นที่ย่านพระโขนงที่จะสะดวกสำหรับการเชื่อมโดยสกายวอล์กไป ยังช่วงพระโขนงที่ห่างจากแยกพระโขนงไม่มากนัก อีกทั้งยังใกล้กว่าช่วงจากทองหล่อไปแยกพระโขนง ซึ่งสามารถเชื่อมกับถนนพระราม 4 ได้ง่ายกว่า และเพื่อที่จะเชื่อมต่อไปยังถนนสาทร-ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ - ถนนพระราม 3 - สะพานพระราม 9 - ท่าพระในระยะที่ 2 ที่ สจส.กำหนดไว้
"โครงการนี้ในเบื้องต้นจะใช้ที่ดินย่านสี่แยกถนนเกษตรฯ-นวมินทร์ที่กลุ่มเค.อี.แลนด์สนับสนุน และ พื้นที่ย่านรามอินทรา-รามคำแหง-ทองหล่อ ซึ่งราคาที่ดินในย่านนั้นปัจจุบันอยู่ในระดับ 2 - 2.5 แสนบาทต่อตารางวา หากเบนเข้าไปใช้เส้นทางซอยสุขุมวิท 71 หรือซอยสุขุมวิท 63 เอกมัยก็จะได้รับอานิสงส์ราคาที่ดินปรับตามไปด้วย โดยกลางซอยสุขุมวิท 71 ราคาที่ดินประมาณ 3-4 แสนบาทต่อตารางวา และย่านทองหล่อกลางซอยประมาณ 5-6 แสนบาทต่อตารางวา หรือราคาไร่ละ 240 ล้านบาทจึงขึ้นอยู่ว่ากทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเลือกใช้เส้นทางใดเท่านั้น"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ