ปริญสิริ-เคพีเอ็น คาดจบดีลสิ้นเดือนนี้ วางเป้า รายได้ 3 ปี ทะลุหมื่นล้าน ขึ้นท็อปเท็น ระบุกระแสควบรวมอสังหาฯ มาแรง เหตุบริษัทใหญ่ได้เปรียบต้นทุน-ราคาขาย
นายอุเทน คงสุนทรกิจกุล กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIN เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจระหว่างปริญสิริ และบริษัท เคพีเอ็น โฮลดิ้ง จำกัด (KPN) คาดว่าจะจบดีลภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนที่ 28 ส.ค. ปริญสิริ จะประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอุมัติ
ส่วนโครงสร้างการบริหารงานและแผนการดำเนินงานของปริญสิริในระยะต่อไปจะไม่มีการเปลี่ยนชื่อบริษัท โดยปริญสิริจะเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก ส่วนกลุ่มเคพีเอ็นจะพัฒนาโครงการคอนโดมีเนียม
"แบรนด์ของทั้ง 2 บริษัทที่มีอยู่แล้วจะยังคงอยู่ แต่ว่าจะนำแบรนด์มาวางตำแหน่งสินค้าใหม่ และเชื่อว่าทิศทางในอนาคตของบริษัทจะเติบโตเร็วและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น สามารถรองรับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนได้"
นายอุเทนกล่าวว่า บริษัทได้กำหนดเป้าหมาย หลังจากการเจรจาสำเร็จระยะ 3 ปี (2559-2561) คือ มีรายได้ 1 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วนรายได้ มาจาก ปริญสิริ 50% และเคพีเอ็น 50% และคาดว่า จะติดอันดับท็อปเท็นของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
"ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในยุคที่มีการแข่งขันสูง บริษัทที่มีขนาดใหญ่มีความสำคัญมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความผันผวน เปรียบเสมือนเรือใหญ่ เมื่อมีพายุจะได้รับผลกระทบน้อย ส่วนเรือเล็กจะได้รับผลกระทบมากกว่า อีกทั้งยังมีความได้เปรียบเรื่องต้นทุนจากการมีจำนวนโครงการมาก ทำให้ขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง"
ทั้งนี้ เชื่อว่าทิศทางของการควบรวมกิจการ หรือการร่วมทุนของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่เป็นบริษัทเล็กจะดำเนินธุรกิจได้ยาก อีกทั้งอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่ควบรวมได้ง่าย เพราะทุกอย่างเป็นการว่าจ้าง ไม่มีความซับซ้อนเรื่องการผลิต
สำหรับแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง จะเปิดโครงการแนวราบทั้งบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ 3 โครงการ ในทำเลศาลายา ท่าข้าม มูลค่ารวมประมาณ 1,200 ล้านบาท ส่วนยอดขายปีนี้คาดว่าจะทำได้ 3,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมียอดขายแล้ว 1,700 ล้านบาท ส่วนรายได้คาดว่าจะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ช่วงครึ่งปีแรกทำได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท มียอดขายที่รอรับรู้รายได้ 700-800 ล้านบาท ส่วนเคพีเอ็นฯ ปีนี้ มียอดขายที่รอรับรู้รายได้ 2,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน บริษัทได้มีการปรับตัวลดความเสี่ยง โดยจะลงทุนในโครงการที่มีความมั่นใจเท่านั้น เมื่อลงทุนไปแล้วต้องสามารถรับความเสี่ยงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ และไม่มีการซื้อที่ดินเพิ่ม ไม่สร้างสต็อกบ้านพร้อมขายมาก เพื่อเป็นการสร้างสภาพคล่องทางการเงิน
ตลาดอสังหาริมทรัพย์ช่วงที่เหลือมองว่า ตลาดไม่ฟื้นตัวมากนัก เพราะเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว เครื่องจักรที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่ยังล่าช้า การส่งออกไม่ดี การลงทุนชะลอเพราะเอกชนและ นักลงทุนต่างชาติรอความชัดเจนจากภาครัฐเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพราะเป็น ห่วงว่านอกจากจะชะลอ ลงทุนแล้วจะมีการย้ายฐานการผลิตออกไปด้วย ซึ่งจะยิ่งสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ