คนชั้นกลางอ่วมปฏิรูปภาษีที่ดิน

1,188 Views เผยแพร่ 26 ก.พ. 58
คนชั้นกลางอ่วมปฏิรูปภาษีที่ดิน
การผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปภาษีทั้งระบบของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เป้าหมายสำคัญหนึ่งของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ต้องการที่จะเก็บภาษีที่ดินที่อยู่ในสภาพรกร้างว่างเปล่า และส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือของมหาเศรษฐีในเมืองไทย การเก็บภาษีก็เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ รวมทั้งมีการกระจายที่ดินไปสู่คนที่มีรายได้น้อยกว่า เพื่อใช้ในการทำมาหากินหรือนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้อีกเป้าหมายหนึ่งก็เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ซึ่งจะเป็นผู้เก็บภาษีที่ดินตามกฎหมายใหม่ มาแทนที่การเก็บภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่ ที่จัดเก็บรายได้ได้น้อยเพียงปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะทำให้ อปท.สามารถเก็บรายได้ได้มากขึ้น 5-6 เท่า หรือปีละ 2-3 แสนล้านบาท ทำให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุนรายได้ให้กับ อปท. ที่ทุกวันนี้ยังต้องใช้เงินจากงบประมาณจัดสรรให้ถึงปีละ 2.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามสาระสำคัญของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเวลานี้ยังสรุปไม่ลงตัว เพราะผลจากการเก็บภาษีที่ดินได้รับผลกระทบกับคนในวงกว้าง ทั้งคนรวยที่เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ รวมไปถึงคนที่มีบ้านอยู่อาศัยทุกคน ที่ต้องมีภาระควักเงินในกระเป๋าจ่ายภาษีที่ดิน

สมหมาย ภาษี รมว.คลัง ออกมาระบุว่า ได้มีการรื้อใหญ่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกครั้งเพื่อให้ลดผลกระทบกับ ผู้เสียภาษีมากขึ้น จากเดิมเคยกำหนดเพดานอัตราภาษีไว้ 3 อัตรา ได้แก่

  1. ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย อัตราเพดานภาษี 0.5% ของราคาประเมิน และจะเก็บจริง 0.01% สำหรับบ้านที่อยู่อาศัย 2 ล้านบาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี และส่วนที่เกิน 2 ล้านบาท ยังผ่อนผันให้ในปีแรกเสียภาษี 50% ปีที่ 2 เสีย 75% และปีที่ 3 เสีย 100% เพื่อให้ผู้เสียภาษีได้ปรับตัว
  2. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ มีเพดานอัตราภาษี 1% ของราคาประเมิน และคาดว่าจะเก็บจริงในอัตราที่ไม่เป็นภาระเพิ่มให้กับ ผู้ประกอบการที่เคยเสียภาษีโรงเรือน และภาษีบำรุงท้องที่
  3. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า กำหนดเพดานอัตราภาษี 4% แต่มีแนวคิดจะทยอยจัดเก็บในอัตราต่ำก่อน และให้เวลา 3 ปีในการนำที่ดินรกร้างไปใช้ประโยชน์ แต่หากยังไม่ใช้ประโยชน์จากที่ดินก็จะเก็บภาษีเต็มเพดาน

อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีการปรับรายละเอียดภาษีที่ดินอีกครั้ง โดยจะแบ่งการเก็บภาษีที่ดินออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม
  2. ที่ดินเพื่ออยู่อาศัย
  3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์
  4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า

โดยอัตราเพดานภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ 3-4 เท่าของอัตราที่จะเรียกเก็บจริง จากที่ปัจจุบันเพดานอัตราภาษีที่กำหนดไว้สูงถึง 8-9 เท่าของอัตราที่เก็บจริง ซึ่งถือว่ามากเกินไป ตัวอย่างเช่น รัฐบาลคิดว่าจะเก็บภาษีที่ดินสำหรับอยู่อาศัยที่ 0.1% ก็ควรกำหนดเพดานภาษีไว้ที่ 0.3-0.4% ของราคาประเมินก็เพียงพอแล้ว

ประเด็นสำคัญที่ตามมา คือ จะทำอย่างไรไม่ให้ผู้เสียภาษีมีภาระสูงจนแบกรับไม่ไหว ในส่วนของภาษีที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมก็จะมีการยกเว้นภาษีให้กับผู้ถือครอง ที่ดินจำนวน 15-20 ไร่ กลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษี โดยจะมีการตีเป็นมูลค่าที่ดินออกมาว่าควรเป็นเท่าไรที่จะได้รับการยกเว้น " ภาษี "

สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมที่เคยคิดว่าจะยกเว้นให้สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่า 2 ล้านบาทแรก มาถึงตอนนี้ต้องมีการปรับลด เพราะการยกเว้นต้องใช้กับการเก็บภาษีที่ดินทั้งประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการเก็บภาษีในต่างจังหวัดที่ราคาที่ดินและบ้านราคาถูก ส่งผลให้ อปท.ไม่สามารถเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เลย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม โดยกรอบคิดของกระทรวงการคลังขณะนี้จะให้บ้านที่อยู่อาศัย 70-100 ตารางวา ซึ่งเป็นพื้นที่ระดับที่คนส่วนใหญ่เริ่มสร้างตัวสร้างฐานะให้เสียภาษีใน จำนวนเท่ากับการเสียภาษีป้ายทะเบียนรถ 1 คัน หรือประมาณ 2,000-3,000 บาท/ปี ขณะที่ดินเพื่อการพาณิชย์ยังคงยึดหลักการเดิม

ปัญหาสุดท้ายคือที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่แม้ว่าจะเก็บภาษีในอัตราสูง แต่ในทางการปฏิบัติจัดเก็บได้ยาก เพราะคนรวยก็จะจ้างคนไปปลูกต้นไม้ต้นหญ้าให้เป็นที่ดินเพื่อการเกษตร ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษีและเสียภาษีต่ำ

จากสาระสำคัญของภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างตอนนี้ จะเห็นว่าภาระหนักจะตกอยู่กับผู้ที่มีบ้านอยู่อาศัย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ทางเศรษฐกิจที่มีราคาที่ดินและบ้านราคาสูง จากกรอบของกระทรวงการคลังจะเห็นชัดว่า คนที่อยู่คอนโดมิเนียมมูลค่าเกิน 1-2 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีแล้ว ส่วนคนที่มีบ้านพื้นที่ 70-100 ตารางวา ก็หนีไม่พ้นต้องเสียภาษีที่ดินอย่างหลีกเลียงไม่ได้

ต่างจากที่ดินเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หากมีที่ดินที่ยังไม่ได้ทำโครงการ ซึ่งควรต้องเสียภาษีเพราะถือเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ก็มีการวิ่งเต้นให้เสียภาษีอัตราที่ดินเพื่อการพาณิชย์ เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับภาษีมาก ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่าก็มีช่องเลี่ยงช่องใหญ่ ทำให้สุดท้ายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาระหนักกลับตกอยู่กับคนที่มีที่อยู่อาศัยทุกกลุ่ม

ปัญหาดังกล่าวทำให้ความเป็นอยู่ของคนชั้นกลางที่เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัว และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจปัจจุบันและอนาคต มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น ใช้จ่ายได้น้อย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในที่สุด แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง เพื่อให้คนที่เริ่มก่อร่างสร้างตัวมีภาระน้อยลง แต่หากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ เงินที่ได้จากการลดภาษีก็จะถูกดูดกลับไปเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน

ปัจจุบันชนชั้นกลางก็มีปัญหารายได้ ไม่เพิ่ม สวนทางกับรายจ่ายจากค่าครองชีพที่สูงต่อเนื่อง ราคาสินค้าไม่ลดทั้งที่ราคาน้ำมันถูกลง ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากการกู้มาใช้จ่ายจนทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่าง รวดเร็ว แล้วยังต้องมาเจอภาระจากการปฏิรูปภาษีที่ดินเพิ่มอีก ทำให้ชีวิตหนักหนาสาหัสมากขึ้น จึงยากที่ภาวะเศรษฐกิจจะมีสัญญาณที่ดีขึ้นในเร็วๆ นี้

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ