คสช.ขับเคลื่อนสารพัดโครงการเมกะโปรเจกต์ เดินหน้าลงทุนสร้างระบบเครือข่ายคมนาคมของประเทศ เผยช่วง 2 ปี อนุมัติรถไฟฟ้าสารพัดสี รถไฟทางคู่อีกหลายสาย ชนิดที่ไม่มีรัฐบาลไหนทำได้มาก่อน ส่วนปี 60 จ่ออนุมัติโครงการขนาดใหญ่อีกเพียบ ครอบคลุมทางบก ราง น้ำ อากาศ เผยจะช่วยพลิกโฉมการเดินทางครั้งใหญ่ และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยได้อย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการก่อสร้าง ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสารพัดสี รถไฟทางคู่หลายสายเชื่อมโยงในทุกภูมิภาคแบบปูพรมเต็มที่ เรียกว่าแทบทุกโครงการที่เคยเป็นแผนของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบบที่ไม่มีรัฐบาลชุดไหนทำมาก่อน
กระทรวงคมนาคมรับหน้าที่สำคัญในการนำนโยบาย คสช. มาขับเคลื่อน โดยกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ปี 2559 จำนวน 20 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านบาท โดยมีทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ ท่าเทียบเรือ และสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ซึ่งล่าสุดเตรียมจะเสนอแผนปฏิบัติการ ปี 2560 ซึ่งจะมีอีกไม่น้อยกว่า 30 โครงการ ครอบคลุมทั้ง "บก-ราง-น้ำ-อากาศ" ประเมินว่าวงเงินลงทุน ไม่ต่ำกว่า 7-8 แสนล้านบาท
สำหรับผลงาน "ครม.พล.อ.ประยุทธ์" ที่ผ่านมา ได้เข้ามาเร่งรัดระบบรางของกระทรวงคมนาคม โดยประเดิมด้วยการอนุมัติโครง การรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้าแก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงินลงทุน 11,348.35 ล้านบาท เมื่อปี 2558 และเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.พ.2559 หลังจากนั้น ได้อนุมัติเพิ่มอีก 6 โครงการ ตามแผนงานระยะเร่งด่วน วงเงินรวม 139,103.76 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น แล้ว ส่วนอีก 5 เส้นทางอยู่ระหว่างประมูล จะเคาะราคากันในต้นปี 2560
ส่วนระบบรถไฟฟ้าที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล 10 สายนั้น ปี 2559 มีการอนุมัติโครงการในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ สายสีเหลือง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงิน 54,644 ล้านบาท ช่วงลาดพร้าวสำโรง , สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงิน 56,691.01 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอ โดยจะได้ตัวผู้ชนะในกลางเดือน ธ.ค.นี้ ตามนโยบายนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน 1 เดือน ส่วนสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21 กม. วงเงิน 109,540.84 ล้านบาท เปิดยื่นซองข้อเสนอเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ขณะนี้ได้เปิดซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติและข้อเสนอด้านเทคนิคแล้ว โดยจะเปิดซองข้อเสนอด้านราคาในช่วงเดือนก.พ.2560 และคาดว่าจะลงนามได้เดือนเม.ย.2560
ขณะที่สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์ บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ขณะนี้ รฟม. ได้ทำข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกินและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าจะประชุมในเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอ ครม.ได้ปลายปีหรือต้นเดือนม.ค.2560
ส่วนรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. คือ รถไฟสายสีแดงอ่อน(Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบรายละเอียดเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ และการบริหารจัดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงคาดประมูลได้ประมาณกลางปี 2560
สำหรับแผนในปี 2560 ได้มีการเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติรถไฟทางคู่ระยะ 2 อีก 7 โครงการ ระยะทาง 1,493 กม. และสายใหม่ 2 โครงการ รวมวงเงินถึง 433,995.4 ล้านบาท ได้แก่ ช่วง ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม., ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 กม., ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กม., ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กม., ช่วงสุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 324 กม., ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม., ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม.
นอกจากนี้ ยังมีทางคู่สายใหม่ 2 สาย ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 76,980 ล้านบาท และสายบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 60,353 ล้านบาท
ส่วนรถไฟฟ้าของ รฟม. เตรียมเสนอ ครม. ในปี 2560 จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 125,174.15 ล้านบาท ได้แก่ ส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ-บางปู, สายสีเขียวเหนือ ช่วงคูคต-ลำลูกกา, สายสีน้ำเงินช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 และสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม และยังมีรถไฟฟ้าของ การรถไฟฯ อีก 3 โครงการ วงเงินรวม 55,123.51 ล้านบาท ได้แก่ สายสีแดง ส่วนต่อขยายจากรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ สายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ช่วง พญาไท-บางซื่อดอนเมือง
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม. ระบุว่า หาก ครม.อนุมัติสายสีม่วงใต้ รฟม. จะทำราคากลางเรียบร้อยใน 1 เดือน หรือเปิดประมูลได้ในไตรมาสแรกปี 2560 และหากในปี 2560 ครม.อนุมัติรถไฟฟ้าอีก4 สาย รฟม.ก็ จะเร่งการประกวดราคา ซึ่งเท่ากับว่าในปี 2560 รถไฟฟ้าในแผนแม่บทในส่วนของ รฟม. จะได้ก่อสร้างครบทั้งหมด
ทั้งนี้ การผลักดันลงทุนระบบรางครั้งใหญ่ ในรอบ 2 ปี ของรัฐบาล คสช. ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรัฐบาลที่ผ่านๆ มา โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่า ที่ผ่านมา ระบบราง ระบบขนส่งมวลชน เป็นนโยบายของทุกรัฐบาล แต่การขับเคลื่อนไม่มี ต่างจากรัฐบาลนี้ เขียนนโยบายแล้ว มีการลงสู่ขับเคลื่อนอย่างจริงจัง "ติดตาม-ติดขัดตรงไหน-เร่งรัด" โดยมีกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ปฏิบัติ
โดยนอกจากระบบรางแล้ว ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ผลักดัน ทั้งโครงข่ายถนน 4 ช่องจราจร มอเตอร์เวย์ 3 สาย และในปี 2560 จะมีมอเตอร์ เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 119 กม. วงเงิน 80,600 ล้านบาท และทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก ระยะทาง 16.923 กม. มูลค่าโครงการ กว่า 3 หมื่นล้านบาท, ทางด่วน N2, ทางด่วน กะทู้-ป่าตอง
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ครั้งประวัติศาสตร์ นี้ นายสมคิด ระบุว่า ไม่ใช่มองแค่เรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่า คือ เป็นการวางพื้นฐานศักยภาพของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะที่ผ่านมา "รางไม่ต่อ ถนนไม่เพิ่ม" ขณะใครจะเข้ามาลงทุนจะมองที่โครงสร้างพื้นฐานก่อนว่าประเทศ ไทยพร้อมแค่ไหน จะขนส่งสินค้าไปท่าเรือแหลมฉบัง ถนนเป็นอย่างไร ตรงนี้ มีการเพิ่มโครงข่าย ขยายเป็น 4 เลน เพิ่มรถไฟทางคู่ สินค้าจากภาคอีสาน จากชายแดนกัมพูชา มาใช้ท่าเรือแหลมฉบังได้สะดวกมากขึ้น
จึงนับได้ว่าเวลา 2 ปี ภายใต้รัฐบาล คสช. เป็นห้วงเวลาสำคัญ แห่งการสร้างพื้นฐานความแข็งแกร่งของประเทศเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา