"รถไฟฟ้า" ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งของไทยที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งขับเคลื่อนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้มีความสุขในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเคยประกาศตั้งเป้าจะพยายามเปิดประมูลและก่อสร้างให้ได้ ปีละ 1 เส้นทาง
ในปี 2558 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต่อรองและเซ็นสัญญาบริษัทรับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กิโลเมตร วงเงิน 2.87 หมื่นล้านบาท และเริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าเพียงสายเดียวที่เดินหน้าก่อสร้างได้ภายในปีนี้ และภายใต้รัฐบาล คสช.
ทั้งๆที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ พยายามอย่างยิ่งที่จะให้ รฟม.เร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการให้สามารถเปิดประมูลและเริ่มก่อสร้างในขั้นตอนต่อไป ซึ่งปัจจุบัน รฟม. มีโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ จำนวน 6 สายทาง 13 โครงการ (ระยะทางรวม 251 กม.) โดยมีโครงการที่เปิดให้บริการแล้วในปัจจุบันได้แก่ รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (บางซื่อหัวลำโพง)
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ รฟม. ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 21.1 กม. (ใต้ดิน 12.1 กม. / ยกระดับ 9 กม.) มี 17 สถานี (ใต้ดิน 10 สถานี / ยกระดับ 7 สถานี) มูลค่าก่อสร้างกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะประกาศประกวดราคาเดือนเมษายน 2559 กำหนดเปิดให้บริการปี 2565 ทั้งนี้ ครม. ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมและค้ำประกันเงินกู้ภายใต้ กรอบวงเงินค่างานก่อสร้าง ค่าโพรเฟสชันซัมและค่าจ้างที่ปรึกษาภายใต้กรอบวงเงิน 85,483 ล้านบาท พร้อมกับให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณประจำปีให้เป็นรายได้แก่รฟม.ให้ เพียงพอต่อการบริหารงาน การลงทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกทั้งยังคาดว่ารถไฟฟ้าสายอื่นๆ จะได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในปี 2559 ที่รฟม.จ่อนำเสนอครม.อีกไม่น้อยกว่า 3 เส้นทาง
สำหรับความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วและอยู่ในระหว่างดำเนินการ มีดังนี้
- สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) กำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเดือนสิงหาคม 2559 นี้ ระยะทาง 23 กม. มี 16 สถานี (1 Depot และ 4 จุดจอดแล้วจร) รวมวงเงินลงทุนกว่า 6.3 หมื่นล้านบาท สถานะล่าสุดงานโยธาสัญญา 1-3 และ 6 แล้วเสร็จ งานเดินรถสัญญา 4 รฟม. และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) ลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2556 ก้าวหน้า 85.34% งานเดินรถสัญญา 5 รฟม. ได้เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม. ขออนุมัติผลเจรจากับ BMCL มีระยะเวลาของสัญญา 27 เดือน (งานระยะที่ 1 : 15 เดือน + งานระยะที่ 2 : 12 เดือน) เช่นเดียวกับ
- สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ - ท่าพระ/ หัวลำโพง-บางแค) ระยะทางช่วงหัวลำโพง - บางแค 14 กม. / ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ 13 กม. จำนวนสถานีช่วงหัวลำโพง-บางแค ยกระดับ 4 สถานี และใต้ดิน 7 สถานี ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ยกระดับ 10 สถานี รวมวงเงินลงทุนกว่า 8.2 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการเดินรถประมาณเดือนมิถุนายน 2563 การก่อสร้างมีความคืบหน้าอย่างมากโดยงานโยธา สัญญา 1-5 ก้าวหน้า 69.82% โดยเฉพาะการขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาและลอดจากหัวลำโพงมาถึงสถานีสนามไชย ส่วนงานเดินรถนั้น รฟม. ได้เสนอรายงาน PPP ตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อเห็นชอบ ก่อนที่ รฟม. จะเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ตามขั้นตอนต่อไป
- สายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ระยะทาง 13 กม.จำนวน 9 สถานี รวมวงเงินลงทุนกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2563 โดยความคืบหน้าด้านงานโยธาสัญญา 1-2 ก้าวหน้า 72.04% ส่วนงานเดินรถนั้นมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้เดินรถ ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและหารือข้อกฎหมายระหว่าง รฟม. กับ กทม.
- สายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี รวมวงเงินลงทุนกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท กำหนดเปิดให้บริการเดือนธันวาคม 2563 ความคืบหน้าล่าสุดงานโยธาสัญญาที่ 1-3 ก้าวหน้า 1.96% และงานเดินรถนั้น มติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้เดินรถ ปัจจุบันนี้อยู่ระหว่างการเจรจาและหารือข้อกฎหมายระหว่าง รฟม. กับ กทม. เช่นกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ