หนี้ครัวเรือนเอเชียพุ่งทะยาน หลายประเทศเร่งคุมบทบาทระบบธนาคารเงา

1,052 Views เผยแพร่ 8 พ.ค. 58
หนี้ครัวเรือนเอเชียพุ่งทะยาน หลายประเทศเร่งคุมบทบาทระบบธนาคารเงา

ตัวเลขหนี้บุคคลกำลังทะยานสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ควบคู่ไปกับบทบาทและสัดส่วนทางเศรษฐกิจของแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันธนาคารที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน ทำให้หน่วยงานผู้กำกับดูแลระบบการเงินการธนาคารเกิดความวิตกกังวลมากขึ้น เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในภาพรวมได้ในอนาคต

เดอะ วอลล์ สตรีต เจอร์นัล รายงานว่า "ธนาคารเงา" หรือ shadow banking ซึ่งเป็นการปล่อยกู้โดยแหล่งการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารและไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลอย่างเข้มงวดของหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของปรากฏการณ์เงินกู้พุ่งทะยานในประเทศจีน โดยนับจากปี 2551 เป็นต้นมา ธนาคารเงาเป็นแหล่งปล่อยกู้ในสัดส่วนถึง 1 ใน 5 ของการปล่อยกู้ทั้งหมดในจีน เหตุการณ์ลักษณะนี้เป็นกระแสแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ จีน และมาเลเซียเช่นกัน ซึ่งจะว่าไปแล้วมันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทุกที่ในประเทศที่ประชาชนกำลังมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้ให้กู้ในระบบธนาคารเงา ซึ่งครอบคลุมถึงสหกรณ์ ผู้ปล่อยกู้ทั่วไป สถาบันผู้ออกบัตรเครดิต และบริษัททรัสต์ ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและควบคุมอย่างเข้มงวดเหมือนกับบรรดาธนาคารพาณิชย์ และมักจะเน้นกลุ่มลูกค้าไปที่ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งก็ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจภาพรวมที่แตกต่างออกไป

โดยปกติแล้วธนาคารเงาไม่ได้นำเงินจากการฝากเงินของลูกค้ามาปล่อยกู้เหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป บางครั้งบางคราวก็เป็นการนำเงินจากผู้ที่มีเงินเหลือและต้องการสร้างผลตอบ แทนที่สูงกว่าการฝากเงินไปปล่อยกู้ให้แก่ผู้ที่ต้องการเงินทุน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของตราสารหนี้หรือตราสารทุนที่ทำออกมาจำหน่าย การปล่อยกู้ลักษณะนี้เคยถูกกล่าวหาเป็นตัวการของปัญหาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาก่อนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่ในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย รูปแบบการปล่อยกู้ของแหล่งเงินกู้แบบธนาคารเงาไม่ได้ซับซ้อนมากมายนัก และส่วนใหญ่ก็มุ่งให้กู้แก่ผู้มีรายได้น้อยหรือผู้ที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกันที่ไม่มีหรือขาดช่องทางเข้าหาแหล่งเงินกู้จากสถาบันธนาคาร ซึ่งก็ทำให้พวกเขาต้องแบกรับดอกเบี้ยหรือต้นทุนกู้ที่สูงกว่าปกติด้วยเช่นกัน

แม้ว่าระบบธนาคารเงาในเอเชียจะมีบทบาทน้อยกว่าในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป (ในแง่ขนาดและผลกระทบ) แต่ระบบดังกล่าวก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากข้อมูลของคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงิน หรือ Financial Stability Board ซึ่ง เป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินระหว่างประเทศ พบว่า สินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่า 10% ในปี 2556 ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ในระดับ 7%

ระบบธนาคารเงาของจีนมีขนาดใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 4% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่ธนาคารทั่วโลก (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2556) เพิ่มจากที่เคยมีสัดส่วนเพียง 1% ในปี 2550 สวนทางกับในสหรัฐอเมริกา ที่สินทรัพย์ในระบบธนาคารเงาลดลงจาก 41% เหลือเพียง 33% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนในประเทศไทยการปล่อยกู้นอกระบบธนาคารมีสัดส่วนคิดเป็น 28% ของมูลค่ารวมของเงินกู้ภาคครัวเรือน (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2557) หรือคิดเป็นมูลค่า 2.94 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 48% เมื่อเทียบกับข้อมูลในปี 2554 ทั้งยังเป็นอัตราเพิ่มที่สูงกว่าการปล่อยกู้ในระบบธนาคารที่ขยายตัวที่อัตรา เพียง 40% ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในปี 2557 ของคณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินพบว่า หน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินของเอเชียยังคงมองว่า ระบบธนาคารเงาไม่ได้สร้างความเสี่ยงต่อระบบการเงินในภาพรวมเหมือนอย่างใน สหรัฐฯหรือยุโรป สาเหตุสำคัญคือขนาดของการกู้จากธนาคารเงาในเอเชียยังเล็กกว่ามากเมื่อเทียบ กับโลกตะวันตก ทั้งนี้ ระบบธนาคารของประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียยังมีบทบาทมากกว่าโดยมีสินทรัพย์ในระบบการเงินในภาพรวมมากกว่า 50% และอีกส่วนหนึ่งก็มองเห็นว่า ระบบธนาคารเงายังมีข้อดีคือเป็นแหล่งเงินกู้ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย

แม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วของเอเชียอย่างเกาหลีใต้ ก็ยังเห็นแนวโน้มบทบาทที่สูงขึ้นของระบบธนาคารเงาเนื่องจากภาครัฐมีกฎ ระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับการปล่อยกู้ของธนาคาร ทำให้ผู้ที่ต้องการกู้เงินต้องหันไปพึ่งระบบธนาคารเงาแทน สถิติชี้ว่าแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่ธนาคารของเกาหลีใต้มีการปล่อยกู้ในปี 2557 เป็นมูลค่ารวมกันถึง 583 ล้านล้านวอน หรือกว่า 5.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนหน้า สำหรับเกาหลีใต้แล้ว สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารคือผู้ปล่อยกู้ราวๆ 50% ของการกู้ภาคครัวเรือนทั้งหมด (ข้อมูล ณ 30 กันยายน 2557) เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 42% ในปี 2550 สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะข้อกำหนดที่เข้มงวดเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือทางการ เงินของผู้ที่ต้องการกู้เงินจากธนาคาร ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆจำเป็นต้องพึ่งเงินกู้จากระบบธนาคารเงา

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พยายามเข้ามากำกับดูแลและจำกัดการเติบโตของระบบธนาคารเงา โดยเฉพาะในแง่การปล่อยกู้ให้กับบริษัทก่อสร้างหรือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ราย ย่อย ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขในการปล่อยกู้แก่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของแหล่งเงินกู้ที่ ไม่ใช่ธนาคาร และขณะเดียวกันก็ลดหย่อนเงื่อนไขการปล่อยกู้ภาคอสังหาฯให้กับธนาคาร เพื่อจูงใจให้บริษัทอสังหาฯใช้บริการเงินกู้จากสถาบันธนาคาร มาตรการดังกล่าวมีผลทำให้การปล่อยกู้นอกระบบธนาคารของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 8 แสนล้านวอน จากที่เคยสูงถึง 2.7 ล้านล้านวอนในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เช่นเดียวกับในมาเลเซียที่การเพิ่มเงื่อนไขการปล่อยกู้ในภาคอสังหาฯที่เข้มงวด มากขึ้น ส่งผลให้มูลค่ารวมของการปล่อยกู้นอกระบบธนาคารเติบโตในอัตราที่น้อยลง คือเติบโตที่ระดับเพียง 10% ในปี 2557 จากที่เคยโตถึง 22% ในปี 2555

กระนั้นก็ตามสิ่งจำเป็นยิ่งไปกว่านั้นสำหรับการควบคุมการเติบโตของระบบธนาคารเงา เพื่อควบคุมความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อระบบการเงินภาพรวมในอนาคต ก็คือการทำให้ผู้ต้องการกู้ที่มีรายได้น้อยมีโอกาสมากขึ้นในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคาร ซึ่งมีการควบคุมดูแลจากหน่วยงานภาครัฐและมีต้นทุนกู้ต่ำกว่าแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพราะตราบใดที่พวกเขายังเข้าไม่ถึงแหล่งทุนที่จำเป็น ตราบนั้นก็คงยังต้องหันเข้าหาแหล่งเงินกู้นอกระบบธนาคารแม้จะต้องจ่าย ดอกเบี้ยสูงมากก็ตาม

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ