เม็ดเงินรัฐนอนนิ่งแสนล้าน ฝืดเคืองทุกหย่อมหญ้า - แบงก์หวั่นหนี้เน่าพุ่งปล่อยกู้ลดลง

1,781 Views เผยแพร่ 25 ก.ค. 58
เม็ดเงินรัฐนอนนิ่งแสนล้าน ฝืดเคืองทุกหย่อมหญ้า - แบงก์หวั่นหนี้เน่าพุ่งปล่อยกู้ลดลง

เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะฝืดเคืองอย่างหนักเม็ดเงินไม่ไหลเข้าระบบ คลังเซ็งงบประมาณแสนล้านลงไม่ถึงมือชาวบ้านทั้งที่รัฐบาลอนุมัติไปแล้ว ส่วนภาคเอกชนก็ลำบาก เพราะแบงก์พาณิชย์ปล่อยกู้ไม่ได้ตามเป้า เหตุลูกค้ามีหนี้สูง ความสามารถชำระหนี้ต่ำ จำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อสกัดหนี้เสีย ขณะที่ตลาดหุ้นก็ไม่สะพัด เหตุเศรษฐกิจแย่ฉุดซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลง

สภาพเศรษฐกิจไทยในช่วง ครึ่งปีหลังเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่าจะยังชะลอตัวลงอีก เพราะเม็ดเงินไม่ไหลเข้าระบบ ทั้งเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเห็นได้จากสัญญาณจากแบงก์พาณิชย์ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปล่อย สินเชื่อได้น้อยลง และจะต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เพราะว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้น

ล่าสุดนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้กล่าวว่าที่ผ่านมาได้รวบรวมโครงการที่ไม่รู้จักหรือคุ้นเคย วงเงินกว่าแสนล้านบาท ที่เป็นเงินให้ชาวบ้าน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับล่าง (รากหญ้า) จำนวนมาก กลับลงไปไม่ถึงมือชาวบ้านยกตัวอย่างล่าสุด เงินกู้ 4 หมื่นล้านบาท กรมทางหลวง และวงเงิน 2.5 หมื่นล้านบาท ของกรมทางหลวงชนบท แต่ไปเช็คดูเพิ่งจะลงไปยังไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ไม่รู้ว่ามันติดขัดตรงไหน และหลังจากนี้มีแผนจัดการเงินลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐที่ยังค้างอยู่คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ให้แล้วเสร็จ

ขณะที่นางศศิธร พงศธร กรรมการผู้จัดการธนาคาร แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LHBANK กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยยังเจอปัจจัยท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นที่ยังไม่ฟื้นตัว ดังนั้นธนาคารจึงเพิ่มเกณฑ์และเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยยอดการอนุมัติสินเชื่อ ปัจจุบันลดลงมาก เหลือ 35-40% เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่แล้วมีสัดส่วนการอนุมัติสูงถึง 70% เนื่องจากหนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว กดดันความสามารถในการขอกู้

ส่วนลูกค้าเดิมมีบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์การชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อให้ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เบื้องต้นใช้มาตรการยืดการผ่อนชำระเงินต้นออกไป 22-24 เดือน โดยใช้ชำระแต่เพียงดอกเบี้ย ในกรณีที่ลูกค้าไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระได้ แม้จะมีความเสี่ยงแต่ยังมีหลักประกันที่ยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ

"หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ปีนี้จะรักษาให้อยู่ในระดับ 2.1-2.2% โดยสิ้นไตรมาส 2/58 มี NPL อยู่ที่ 1.96% ส่วนลูกค้าเดิมมีบางส่วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้มีการผ่อนคลายเกณฑ์การชำระหนี้ของลูกค้าเพื่อให้ สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เบื้องต้นใช้มาตรการยืดการผ่อนชำระเงินต้นออกไป 22-24 เดือน โดยใช้ชำระแต่เพียงดอกเบี้ย ในกรณีที่ลูกค้าไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระได้ แม้จะมีความเสี่ยง แต่ยังมีหลักประกันที่ยังเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ"

นางศศิธร ยอมรับว่า อัตรากำไรสุทธิในปีนี้จะลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 20-25% จาก 34.5% ในปีก่อน เนื่องจากจะมีการตั้งสำรองพิเศษเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จากปกติที่ตั้งสำรองเดือนละ 50 ล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนความคืบหน้าในการหาพันธมิตร ปัจจุบันมีการเจรจาเพิ่มกับพันธมิตรยุโรปอีก 2-3 ราย ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาช่วยเสริมในด้านเทรดไฟแนนซ์ ขณะที่พันธมิตรในแถบเอเชีย 3 รายยังมีการเจรจากันต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่มีข้อสรุป

ด้านนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น การที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะขึ้นดอกเบี้ยปลายปีนี้ และปัญหาหนี้กรีซที่ยืดเยื้อ รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า มีผลต่อมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเหลือ 47,698 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าอยู่ที่ 52,000 ล้านบาท

นอกจากนี้การที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงส่งผลทำให้หุ้นเก็ง กำไรลดลงตามไปด้วยโดยปัจจุบันมีหุ้นเก็งกำไร 22 หลักทรัพย์ ลดลงจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2557 ที่มีจำนวน 52หลักทรัพย์ และช่วงที่มีการเก็งกำไรสูงสุดมีถึง 73 หลักทรัพย์
 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

ลงประกาศขาย-เช่าฟรี คำนวณการขอสินเชื่อ

คุ้มค่าน่าอ่าน

ประกาศซื้อ-ขายมาใหม่

SHARE

Share Tweet Share
BanKumKa.Com เป็นเว็บไซต์ศูนย์กลางสำหรับซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย ด้วยข้อมูลที่พร้อมทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นโครงการใหม่หรือบ้านมือสอง อีกทั้งบทความและข่าวสารที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้คุณได้คัดสรรทรัพย์ที่ดีที่สุดได้ในเว็บไซต์ BanKumKa.com ที่เดียว
เว็บไซต์ BanKumKa.Com มีการเก็บ Cookies ซึ่งเป็นการจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานเว็บไซต์ สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน้า นโยบายความเป็นส่วนตัว ยอมรับ