ธนารักษ์ปัดฝุ่นที่ราชพัสดุหมอชิต จ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์แผนดำเนินงาน เล็งปล่อยบางกอกเทอร์มินอลผู้พัฒนารายเดิมบริหาร ปลดล็อกโครงการเดินหน้าต่อ
แหล่งข่าวจากกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตที่เป็น ปัญหามานานกว่า 10 ปี ทำให้โครงการเดิมมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ โดยที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้รายงานปัญหาการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตและแนวทางให้กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว
ทั้งนี้ ต้นปีที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริษัท เทสโก้ จำกัด ศึกษาวิเคราะห์แผนการดำเนินโครงการที่ราชพัสดุหมอชิต ที่บริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด (BKT) ซึ่งเป็นผู้ได้บริหารที่ราชพัสดุหมอชิต แต่มีปัญหาข้อกฎหมายว่า การประมูลโครงการไม่ได้ทำตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐและเอกชน ปี 2535 เนื่องจากมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท
"หากบริษัทที่ปรึกษาเห็นว่า สมควรให้จ้างรายเก่าบริหารโครงการต่อไป ทางกรมธนารักษ์ก็จะเสนอให้กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป ซึ่งการให้ผู้ประกอบการรายเดิมพัฒนาโครง การจะแก้ปัญหาเรื่องที่กรมธนารักษ์ถูกฟ้องร้อง แต่ที่สำคัญจะทำให้โครงการพัฒนาต่อไปได้เร็ว เนื่องจากพื้นที่ได้มีการพัฒนาไปบางส่วนแล้ว" แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ราชพัสดุอาจจะต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เดิมที่ราชพัสดุส่วนนี้จะถูกพัฒนา เป็นศูนย์การค้า โรงแรมที่พัก และสถานีเชื่อมต่อรถไฟฟ้า รวมถึงเชื่อมต่อกับขนส่งหมอชิต ซึ่งตอนนี้ในส่วนของขนส่งหมอชิตมีแผนที่จะย้ายออกไปอยู่ชานเมือง ทำให้ต้องมีการปรับรายละเอียดของการพัฒนาโครงการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายสูงสุด
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต เป็นหนึ่งในการผลักดันโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ของกรม ภายใต้แผนแม่บทพัฒนาที่ราชฯ พัสดุ ระยะปานกลาง 5 ปี (2559-2563) เพื่อให้มีการลงทุนกระตุ้นเศรษฐ กิจตามนโยบายของรัฐบาล
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่เจรจากับคู่สัญญาเดิมในโครงการ พัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต คือ บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT (ซัน เอสเตท เดิม) โดยคณะทำงานชุดแรกจะเจรจาเรื่องทางเทคนิค อาทิ คุณสมบัติ แบบก่อสร้าง สเป็กโครงการ เป็นต้น ส่วนชุดที่ 2 จะเจรจาเกี่ยวกับผลตอบแทนและมูลค่าโครงการ รวมถึงกรณีการจ่ายเงินตามคำสั่งศาล
ขณะที่รายงานข่าวจากระทรวงการคลังระบุว่า แนวโน้มโครงการหมอชิตจะต้องให้คู่สัญญารายเดิมเข้ามาพัฒนาต่อ เนื่องจากสัญญาเดิมยังเดินอยู่ หากยกเลิกภาครัฐก็จะผิดสัญญาและถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมาก
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์